“บินไทย”เดินหน้าหาสินเชื่อใหม่ 25,000 ล้าน เตรียมลงนามภายใน มี.ค.นี้ เชื่อออกจากแผนฟื้นฟูฯ ก่อน 5 ปี หวังมาตรการเดินทางภาครัฐ ดันสถานการณ์การบินโต ลุ้น จีน-เกาหลี-ญี่ปุ่นเปิดประเทศปลายปี65 ตั้งธงแลนดิ้งสู่ซาอุฯ ช่วงซัมเมอร์นี้ อวดปี 64 กวาดกำไร 55,113 ล้าน
28 ก.พ.2565 – นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแฯฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ การบินไทยอยู่ระหว่างการจัดหาสินเชื่อใหม่ วงเงิน 25,000 ล้านบาทจาก 5 สถาบันการเงิน เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญาสินเชื่อใหม่ได้ภายใน มี.ค. 2565 ส่วนการจัดทำร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยปรับปรุงสาระสำคัญเรื่องโครงสร้างสินเชื่อใหม่ที่ไม่ก่อภาระต่อภาครัฐในการสนับสนุน และการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ จะยื่นการแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมายตามลำดับต่อไป
“ตอนนี้การบินไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และดำเนินการลดค่าใช้จ่าย และปรับโครงสร้างทุน ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วกว่าเดิม โดยมีความเป็นไปได้ว่า จะทำให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูก่อนระยะเวลา 5 ปี ส่วนมาตรการการเปิดประเทศของรัฐบาล ส่งผลให้มีผู้โดยสารเดินทางเพิ่มขึ้น อาทิ ยุโรป และออสเตรเลียที่กำลังจะเปิดประเทศ ทำให้เชื่อว่า การบินไทยจะมีกำไรอย่างแน่นอน” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ประเทศต่างๆ ในยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศเมื่อปลายปี 2564 และเมื่อรัฐบาลไทยได้กำหนดมาตรการนักท่องเที่ยแบบไม่กักตัว หรือ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 จึงส่งผลให้บริษัทฯ มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยรวมต่อวันเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 311 คนในเดือนต.ค.เป็น 1,067 และ 2,559 คน ในเดือนพ.ย.และเดือนธ.ค.2565 ตามลำดับ ในขณะเดียวกันมาตรการผ่อนคลายในประเทศก็ทำให้จำนวนผู้โดยสารในเส้นทางภายในประเทศของสายการบินไทยสมายล์ เพิ่มขึ้นมากจาก 2,623 คนต่อวัน ในเดือนก.ย. 2564 เป็น 9,536 คนต่อวัน ในเดือนธ.ค.2564 แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นมาก แต่จำนวนผู้โดยสารของการบินไทยและไทยสมายล์รวมกันก็อยู่ระดับ เพียง20% เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้โดยสารในช่วงเวลาที่บริษัทฯ สามารถให้บริการตามปกติ
สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมฯ โดยการยกเลิกมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.2564 ทำให้จำนวนผู้โดยสารต่อวันของบริษัทฯ ในเดือนมกราคมและก.พ. 2565 ลดลง 20% จากในเดือน ธ.ค.2564 โดยมองว่าการที่ภาครัฐนำมาตรการ Test and Go มาใช้อีกครั้งเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากขึ้นแน่นอน และประเทศปลายทาง อาทิ เยอรมนี อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก ออสเตรเลีย เนปาล ฯลฯ ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง นับเป็นสัญญาณดีที่ทำให้ความต้องการเดินทางเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันการบินไทยมีฝูงบิน รวมทั้งสิ้น 58 ลำ ประกอบด้วย โบอิ้ง 777 ER300 จำนวน 14 ลำ, โบอิ้ง 787 จำนวน 8 ลำ, โบอิ้ง 777 ER200 จำนวน 4 ลำ, แอร์บัส A350 จำนวน 12 ลำ, แอร์บัส A320 จำนวน 20 ลำ นอกจากนี้ เตรียมรับมอบเครื่องบินใหม่อีก 3 ลำ (มี First Class) ที่ได้สั่งซื้อก่อนการดำเนินการแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งจะทยอยส่งมอบภายใน มี.ค.-เม.ย. 2565 เพื่อนำมาบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-ลอนดอน โดยจะทำให้การบินไทยมีฝูงบินรวมทั้งสิ้น 61 ลำ
“การบินไทยคาดหวังว่า จะมีการผ่อนคลายมาตรการด้านการบินในประเทศตลาดการบินที่สำคัญของการบินไทย คือ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ที่หวังว่าในช่วงปลายปี 2565 จะทำการเปิดประเทศ รวมทั้งออสเตรเลียด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่า สถานการณ์การบินจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น สำหรับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนนั้น ยืนยันว่า ไม่กระทบต่อการดำเนินงานของการบินไทย โดย”นายปิยสวัสด์
ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่ สายการเงินและการบัญชี การบินไทย กล่าวว่า สำหรับหลักทรัพย์ที่จะนำไปค้ำประกันในการขอสินเชื่อใหม่ วงเงิน 25,000 ล้านบาทนั้น อาทิ อสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสำนักงานใหญ่ , เครื่องบินที่จอดการรอขาย จำนวน 45 ลำ พร้อมด้วยอะไหล่ รวมมูลค่าทั้งหมดประมาณ 30,000 ล้านบาท
ขณะที่ นายวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (DD) การบินไทย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดิอาระเบียนั้น การบินไทยได้เตรียมความพร้อม และเตรียมการณ์ล่วงหน้าในเส้นทางดังกล่าวไว้แล้ว และคาดว่าในช่วงฤดูร้อน (Summer) จะได้เห็นอย่างแน่นอน ส่วนในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 การบินไทยจะเพิ่มเส้นทางการบินไปยังอินเดีย จาการ์ต้า และออสเตรเลียด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของพนักงานนั้น ปัจจุบัน การบินไทยมีพนักงานทั้งสิ้นประมาร 14,000 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าว รวมพนักงานของสายการบินไทยสมายล์แล้วจำนวนประมาณ 800 คน รวมทั้งพนักงาน Out Sourse ด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไม่มีแผนการปรับลดพนักงานลงอีก ซึ่งเชื่อว่า พนักงานจำนวนนี้ จะสามารถดำเนินการได้อย่างแน่นอน
รายงานข่าวจากการบินไทย ระบุอีกว่า การบินไทยยังมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการหารายได้ด้านการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์และบริการคลังสินค้า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้หลักแก่การบินไทย ในช่วงที่การขนส่งผู้โดยสารยังมีข้อจำกัดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา มีการเติบโตด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้รวมกว่า 10,000 ล้านบาท หรือเกือบ 50% ของรายได้รวมของบริษัทฯ ในปี 2564 ที่ผ่านมา
สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2564 โดยการบินไทยและบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 19,702 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 15,712 ล้านบาท (44.4%) มีรายได้รวมทั้งสิ้น 23,747 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 24,684 ล้านบาท หรือ 51% สืบเนื่องจากรายได้ จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 24,599 ล้านบาท (59.9%) และรายได้จากบริการอื่นๆ ลดลง 1,545 ล้านบาท แต่มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,460 ล้านบาท
ส่วนใหญ่เป็นการรับรู้รายได้ที่เกิดจากข้อตกลงระงับข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการชำรุดของเครื่องยนต์ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวม 43,449 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 40,396 ล้านบาท (48.2%) เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่ลดลง ตลอดจนการดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกิจการและปฏิรูปธุรกิจ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป จากการที่ไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ
โดยการบินไทยและบริษัทย่อยมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิ เป็นรายได้จำนวน 81,525 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สินและเงินลงทุน การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร เป็นต้น ส่งผลให้การบินไทยและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2564 จำนวน 55,113 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 161,219 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธ.ค. 2563 จำนวน 48,078 ล้านบาท (23%) หนี้สินรวม 232,470 ลดลงจากวันที่ 31 ธ.ค. 2563 จำนวน 105,492 ล้านบาท (31.2%) ส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทยและบริษัทย่อย ติดลบจำนวน 71,251 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่31 ธันวาคม 2563 จำนวน 57,414 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2564 การบินไทยและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผลประกอบการ SCGD 9 เดือนแรกปี 67 คว้ากำไร 730 ล้านบาท เพิ่ม 15% จากปีก่อน แม้ฝ่ามรสุมรอบด้าน ไตรมาส 3 ยังกำไร 189 ล้านบาท
ผลประกอบการ SCGD 9 เดือนแรกปี 67 กำไรสุทธิ 730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนที่ 637 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 3 เผชิญความท้าทายรอบด้าน
บีเจซี เผยผลประกอบการไตรมาส 2/67 ดันรายได้รวมเติบโตทะลุ 43,085 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานเติบโตกว่า 15%
บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยรายได้รวมในไตรมาส 2/67 เท่ากับ 43,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 257 ล้านบาทจากปีก่อน