ผู้ผลิตเอทานอลค้านรัฐปรับสูตรผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ทุกชนิด

ผู้ผลิตเอทานอลค้านรัฐ ปรับสูตรผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ทุกชนิดเหลือแค่ E10 ชี้ไม่เห็นประโยชน์หวั่นกระทบทั้งกระบวนการโดยเฉพาะเกษตรกร พร้อมจับตา กบง. ถกอีกครั้งในสัปดาห์หน้า  

24 ก.พ. 2565 นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯเตรียมจะทำหนังสือคัดค้านหากกระทรวงพลังงานดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบของกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซินด้วยการปรับลดการผสมเอทานอลในเบนซินเพื่อจำหน่ายแก๊สโซฮอล์จากปัจจุบันที่กำหนดไว้คือ แก๊สโซฮอล์E85 (ผสมเอทานอลในเบนซินพื้นฐาน85%) แก๊สโซฮอล์E20(ผสมเอทานอล20%) และแก๊สโซฮอล์E10 (ผสมเอทานอล10% ) เหลือเกรดเดียวเป็น E10 เป็นการชั่วคราว เนื่องจากยังมองไม่เห็นประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการปรับลดราคาขายปลีกอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบจะประสบความลำบากทั้งเกษตรกรไปจนโรงงานเอทานอลทั้ง 27 แห่ง  

“กระทรวงพลังงานได้โทรมาสอบถามผลกระทบหากลดส่วนผสมกลุ่มเบนซินเหลือ E 10 เพียงเกรดเดียว และอ้างว่า ราคาเอทานอล ที่สหรัฐและบราซิลต่ำกว่าไทย จึงอยากจะถามกลับไปว่า 2 ประเทศนั้นซื้อสินค้าเกษตรราคาสูงเหมือนไทยหรือไม่ โดยสหรัฐใช้ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ บราซิลใช้น้ำอ้อย แต่ของไทยห้ามใช้น้ำอ้อย ให้ใช้กากน้ำตาล และที่ผ่านมาการส่งเสริมเอทานอลรัฐบาลก็อ้างถึงรายได้ให้กับเกษตรกร จึงขอให้มองถึงนโยบายรวมๆไม่ใช่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ส่วนควรจะพิจารณาแนวทางลดภาษีสรรพสามิตกลุ่มเบนซินหรือไม่ เรื่องนี้ก็เป็นหน้าที่รัฐจะพิจารณา” นายพิพัฒน์ กล่าว    

ปัจจุบันความต้องการใช้เอทานอลอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านลิตรต่อวัน หากเหลือเพียงแก๊สโซฮอล์ E10 ก็จะทำให้ความต้องการใช้ลดลงถึง 30% ในส่วนนี้จะดำเนินการอย่างไร เพราะมีสต็อกล่วงหน้าเตรียมค้าขายไว้แล้ว หากรัฐบาลระบุว่าสามารถส่งออกแทนได้นั้นต้องบอกก่อนว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่คาดการณ์ นอกจากนี้ปริมาณการใช้ลดลง ก็จะกระทบต่อเกษตรกรไปด้วย ซึ่งราคาเอทานอลของไทยที่อยู่ที่ประมาณ 25.60 บาทต่อลิตร ขณะนี้ ก็เป็นผลพวงจาก สินค้าเกษตรกที่มีราคาสูง โดยมันเส้น อยู่ประมาณ 7.50-7.70 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) กากน้ำตาลอยุ่ที่ 5.50 บาทต่อกก.   

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานเป็นประธานเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมาได้มีการหารือถึงมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซินจากระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางราคาตลาดโลกโดยมีแนวทางทั้งการลดอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของกลุ่มเบนซินลง และยังรวมถึงมาตรการอื่นๆ เช่น การลดผสมเอทานอลในกลุ่มเบนซินลงเป็นการชั่วคราวเช่น 3 เดือนเพื่อลดภาระการชดเชยราคาที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องแบกรับภาระ  

 “การหารือกบง.ยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้เบนซิน และรวมถึงการดูแลตรึงราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ให้คงอยู่  318 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม(กก.)ที่จะสิ้นสุด 31 มี.ค.นี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยพบว่าการตรึงแอลพีจี เกือบ 2 ปีที่ผ่านมาจนถึง 20 ก.พ. 65  อุดหนุนไปแล้วถึง 26,336 ล้านบาท และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ กองทุนน้ำมันติดลบไปแล้ว 20,164 ล้านบาทซึ่งแผนที่เสนอมีทั้งการขยับขึ้นราคาไตรมาสละ 1 บาทต่อกก.และการตรึงต่อแต่ต้องหาเงินมาดูแลเพิ่มเติม ซึ่งกบง.จะกลับมาหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า”แหล่งข่าว กล่าว 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิชัย' ข้องใจรัฐบาลลดราคาดีเซลลิตรละ 50 สตางค์ทำไมต้องรอ 15 ก.พ.

'พิชัย' ติงลดราคาดีเซลลิตรละ 0.50 บาทน้อยและช้าเกินไป ชี้ควรลด 2 บาทเหมือนที่พรรคเสนอ ถามข้องใจทำไมต้องรอวันที่ 15 ก.พ. หรือหวังกลบอภิปรายไม่ไว้วางใจ

กนง.ประกาศคงดอกเบี้ย/หั่นจีดีพีรับศึกรัสเซีย-ยูเครน

กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย0.5% พร้อมหั่นจีดีพีรับศึกรัสเซีย-ยูเครน-น้ำมันแพงเหลือ 3.2% จ่อร่อนหนังสือแจง "คลัง" หลังเงินเฟ้อหลุดกรอบแตะ 4.9% 

กบง. เคาะสูตรไบโอดีเซลหวังช่วยกดราคาน้ำมัน

เคาะสัดส่วน บี100 จากไบโอดีเซลบี 7 เหลือบี 5 เริ่ม 5 ก.พ.- 31 มี.ค. หวังลดผลกระทบจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น พร้อมสั่งทุกหน่วยงานหาแนวทางคุมราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร