21 ก.พ. 65 – ปัญหาที่รุมเร้าโลกเราขณะนี้มีมากทั้งโรคระบาด เศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ ภัยธรรมชาติ และภาวะโลกร้อนที่เป็นมหันตภัยใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติ ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาร่วมกันของคนทั้งโลก และการแก้ปัญหาที่จะประสพความสําเร็จต้องมาจากความร่วมมือของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน ที่ต้องมีประเทศใหญ่แสดงความเป็นผู้นําและนําประเทศทั่วโลกไปสู่การแก้ปัญหา ที่น่าห่วงคือ โลกเราขณะนี้ขาดประเทศผู้นําที่จะนําการแก้ปัญหา เพราะประเทศอันดับหนึ่งและอันดับสองคือสหรัฐและจีน ไม่พร้อมหรือสงวนท่าทีที่จะแสดงบทบาทผู้นำ ทําให้โลกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมาก นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ปัญหาที่รุมเร้าโลกขณะนี้แบ่งได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือเศรษฐกิจ ที่ขณะนี้เศรษฐกิจโลกเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่มารวมอยู่พร้อมกัน ซึ่งแต่ละปัจจัยสามารถนําโลกไปสู่สถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงหรือวิกฤติเศรษฐกิจได้ เช่นปัญหาเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ราคานํ้ามันและปัญหาหนี้ เหตุการณ์ในอดีตชี้ว่าถ้าการบริหารจัดการปัญหาหรือความเสี่ยงเหล่านี้ผิดพลาด สถานการณ์แบบวิกฤติเศรษฐกิจก็สามารถประทุขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เหมือนกรณีวิกฤติราคานํ้ามันปี1970s วิกฤติเศรษฐกิจเอเซียปี 1997 และวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 และอดีตก็ชี้ว่าความสําเร็จในการป้องกันและการแก้ปัญหาเมื่อวิกฤติเกิดขึ้นจะมาจากความร่วมมือของหลายประเทศเป็นหลัก นําโดยประเทศใหญ่ ตัวอย่างคือวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี2008 ที่กลุ่มประเทศจียี่สิบ(G20) นําโดยสหรัฐได้วางแนวทางและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจนสถานการณ์วิกฤติคลี่คลาย
กลุ่มที่สองคือ ปัญหาที่กระทบความเป็นอยู่และความเป็นความตายของประชาชนทั่วโลก เช่นโรคระบาด ภาวะโลกร้อน และความขัดแย้งระหว่างประเทศที่อาจพลิกโฉมเป็นสถานการณ์สู้รบหรือสงครามที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ปัญหาเหล่านี้ไม่มีพรมแดน ทําให้การแก้ไขหรือการหลีกเลี่ยงปัญหาต้องมาจากความร่วมมือของประเทศต่างๆเช่นกัน ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อโลกมีภาวะผู้นําของประเทศใหญ่ที่จะสร้างฉันทามติในการแก้ปัญหาให้เกิดขึ้น ตรงข้าม ถ้าความร่วมมือไม่มี แต่ละประเทศต่างคนต่างอยู่ การแก้ปัญหาก็จะเป็นแบบต่างคนต่างทํา ขาดประสิทธิภาพ และไม่ประสบความสําเร็จ
ตัวอย่างที่เห็นชัดคือความล่าช้าในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่โลกขาดประเทศที่เป็นผู้นําในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหา ทําให้การแก้ปัญหาอย่างจริงจังไม่เกิดขึ้น อีกกรณีคือการระบาดของโควิด19 ที่โลกขาดประเทศผู้นําที่จะประสานให้เกิดความร่วมมือของประเทศต่างๆ ร่วมกันหยุดการระบาดอย่างเป็นระบบ เห็นได้ว่าเมื่อไม่มีประเทศใหญ่เข้ามานํา ผลที่ออกมาคือต่างคนต่างทํา ทําให้เกิดช่องว่างมากระหว่างประเทศจนกับประเทศรวยในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะการเข้าถึงวัคซีน ผลคือการระบาดในประเทศยากจนมีต่อไปไม่สิ้นสุด นําไปสู่การกลายพันธุ์ของไวรัสที่กลับมาระบาดใหม่ในประเทศรวย ทําให้การระบาดในประเทศรวยไม่สิ้นสุดเช่นกัน
นี่คือความสําคัญของภาวะผู้นําที่จะทําให้ระเบียบเศรษฐกิจและการเมืองโลกมีเสถียรภาพ สงบ และปลอดภัยสําหรับทุกประเทศ เป็นบทบาทของประเทศใหญ่ที่มีความพร้อมในสามอํานาจคือ อํานาจเศรษฐกิจ อํานาจการเมือง และอํานาจการทหารที่ต้องทําหน้าที่ ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศมหาอํานาจได้ทําหน้าที่นี้อย่างต่อเนื่องหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตามหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี2008 บทบาทของสหรัฐในฐานะประเทศผู้นําได้ลดถอยลงเป็นลําดับ ทําให้โลกเข้าสู่สุญญากาศประเทศผู้นํา คือขาดประเทศที่พร้อมและสามารถรับหน้าที่เป็นผู้นําโลกอย่างที่สหรัฐอเมริกาเคยทํา ซึ่งภาวะสุญญากาศนี้พูดได้ว่าเป็นผลลัพท์จากสามปัจจัย
ปัจจัยแรก คือ ความเสื่อมถอยของสหรัฐในอํานาจการเมือง เศรษฐกิจ และอํานาจในการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งประเด็นหลังเกี่ยวโยงกับความล้มเหลวของสหรัฐในการกวาดล้างการก่อการร้ายระหว่างประเทศหลังเหตุการณ์9/11แต่ที่สําคัญคือการตัดสินใจของสหรัฐที่จะเปลี่ยนการเมืองในประเทศอีรัก อัฟกานิสถาน และซีเรีย แต่ไม่สําเร็จ จนล่าสุดสหรัฐต้องถอนกําลังออกจากอัฟกานิสถาน เหล่านี้กระทบสถานะและความน่าเชื่อถือของสหรัฐในฐานะประเทศผู้นํา
ด้านเศรษฐกิจ ความเข้มแข้งของอํานาจเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยลงหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี2008จากความเสียหายที่เกิดขึ้น ขณะที่การดําเนินนโยบายเพื่อฟื้นเศรษฐกิจก็ไม่ได้สร้างการยอมรับในแง่การรักษาวินัยการเงินการคลังให้เป็นตัวอย่าง แต่นําประเทศไปสู่ปัญหาหนี้สาธารณะและความเหลื่อมลํ้าในระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงมากขึ้น กระทบศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐและบทบาททางเศรษฐกิจของสหรัฐในเวทีโลก ส่วนอํานาจการเมืองในฐานะประเทศผู้นําก็อ่อนแอลงตามการถดถอยของการเมืองในสหรัฐที่สร้างความแตกแยกมากขึ้นในสังคมจนกระทบความน่าเชื่อถือของระบอบประชาธิปไตย ที่สําคัญอดีตผู้นําสหรัฐคือประธานาธิบดีทรัมพ์มองบทบาทหน้าที่ของการเป็นประเทศผู้นําว่าเป็นภาระ จึงได้ลดบทบาทและการมีส่วนร่วมของสหรัฐในเรื่องที่สําคัญต่อโลกเช่น ภาวะโลกร้อน การช่วยเหลือและพัฒนาประเทศยากจน และการค้าระหว่างประเทศ นี่คือปัจจัยแรก
ปัจจัยที่สองที่ทําให้สุญญากาศประเทศผู้นําเกิดขึ้นคือการเติบโตของจีนที่ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอํานาจทางเศรษฐกิจอันดับสองอย่างรวดเร็วและบั่นทอนอํานาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ความเห็นในประเทศจีนช่วงห้าปีที่ผ่านมาคือจีนยังไม่พร้อมที่จะทําหน้าที่ผู้นําโลก เพราะความไม่พร้อมของจีนในอํานาจทางการเมืองและการทหารเทียบกับสหรัฐ ทําให้จีนสงวนท่าทีการเป็นประเทศผู้นําและมุ่งเป้าไปที่การสร้างอํานาจ บารมีและอิทธิพลในระดับภูมิภาค รวมทั้งใช้ความรู้และประสพการณ์ของจีนช่วยพัฒนาประเทศที่ยากจน
ส่วนปัจจัยที่สามคือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนที่ประทุขึ้นสมัยประธานาธิบดีทรัมพ์ที่ได้ขยายวงและมีความรุนแรงมากขึ้น ความขัดแย้งนี้ได้กลายเป็นข้อจํากัดทําให้ประเทศใหญ่อันดับหนึ่งและสองของโลกไม่สามารถร่วมกันสร้างภาวะผู้นําให้กับโลกได้
นี่คือสามปัจจัยที่ทําให้โลกขณะนี้อยู่ในสุญญากาศการไร้ผู้นํา คือการเสื่อมถอยของอํานาจ การยอมรับ และอิทธิพลของสหรัฐในเวทีโลกในฐานะประเทศผู้นําที่ประธานาธิบดีไบเดนกําลังพยายามแก้ไข ความไม่พร้อมของจีนที่จะเข้าทําหน้าที่ในตอนนี้ และการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนที่ปิดทางเลือกที่จะเห็นสองประเทศใหญ่ทํางานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของโลก
ในเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศอย่างศาสตราจารย์ ชาน ซิวทอง (Yan Xuetong) มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มองว่า ภาวะสูญญากาศคงจะมีอยู่ต่อไปอย่างน้อยอีกสิบปี ส่วนหนึ่งเพราะผู้นําประเทศทั้งสหรัฐและจีนจากนี้ไปคงจะให้ความสําคัญกับการแก้ปัญหาภายในประเทศก่อนจากความเสี่ยงต่างๆที่มีมากขณะนี้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ความไม่มีเสถียรภาพของระเบียบเศรษฐกิจและการเมืองโลกในโลกที่ไร้ผู้นําก็จะเป็นความเสี่ยงที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะแต่ละประเทศจะมุ่งปกป้องผลประโยชน์ของตนก่อนโดยเฉพาะถ้ามีปัญหาหรือเหตุการณ์ร้ายแรงประทุขึ้น ขณะที่โลกจะเสียโอกาศที่จะเร่งแก้ไขมหันต์ภัยที่เป็นปัญหาร่วมกันของคนทั่วโลกคือ ภาวะโลกร้อน ที่สําคัญโลกจะเป็นแบบต่างคนต่างอยู่ ความร่วมมือและความสมานฉันท์จะลดลง และเสี่ยงต่อการอุบัติขึ้นของประเทศที่จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อหาประโยชน์และปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน นำโลกไปสู่สถานการณ์ขัดแย้งและการขาดเสถียรภาพ
บทเรียนสําคัญเมื่อโลกขาดประเทศผู้นําคือ Kindleberger trap ช่วงปี1930s ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ตามด้วยการอุบัติขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สองอีกสิบปีต่อมา เป็นกับดักที่แสดงให้เห็นว่าภาวะไร้ผู้นําในระเบียบเศรษฐกิจและการเมืองโลกสามารถนําไปสู่สถานการณ์ที่เป็นมหันตภัยต่อโลกได้ถ้าประเทศผู้นําคือ อังกฤษในตอนนั้นที่ภาวะความเป็นประเทศผู้นํากําลังถดถอย และประเทศที่มีศักยภาพที่จะเป็นผู้นํา คือ สหรัฐอเมริกาตอนนั้น เลือกที่จะนิ่งเฉยไม่ทําหน้าที่ดูแลประโยชน์สาธารณะของประเทศในโลกอย่างที่ควร เปิดพื้นที่ให้ประเทศอํานาจนิยมเติบโตจนเกิดสงครามโลกในที่สุด เป็นอุทาหรณ์สําคัญสําหรับสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองโลกขณะนี้
ด้วยเหตุนี้โลกจําเป็นต้องมีประเทศที่เป็นผู้นําแม้จะเป็นภาระให้กับประเทศที่ทําหน้าที่ เพราะไม่มีประเทศไหนจะอยู่คนเดียวในโลกได้ และการมีประเทศผู้นําที่เป็นที่ยอมรับเป็นเงื่อนไขสําคัญของการรักษาเสถียรภาพของระเบียบเศรษฐกิจและการเมืองโลก
เขียนให้คิด
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล