เอกชนยานยนต์ ตั้งเป้าอีก 2 ปีผลิตเพิ่มเป็น 2 ล้านคัน ลั่นแพคเกจอีวีไม่กระทบเหตุยังต้องใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่าน คาดจะเกิดการแข่งขันสูงในปี 67-68 ด้านสมาคมผู้ประกอบการเอ็นจีวี หนุนส่งเสริมแอลเอ็นจี กับกลุ่มรถใหญ่ดีกว่าไปอีวี ชี้ตอบโจทย์รับมือโลกร้อนได้ดีกว่า
21 ก.พ. 2565 – นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปี 2565 กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ได้ตั้งเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในประเทศไว้ 1.8 ล้านคันและคาดว่าไม่เกิน 2 ปีจะก้าวไปสู่ระดับ 2 ล้านคันได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) 15 ก.พ.เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการใช้อีวี 3 ประเภท ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์และรถกระบะที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพ.ค.แต่อย่างใด
“ปีนี้เราตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ซึ่งก็คือเป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน ไว้ 1.8 ล้านคันเนื่องจากมองว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยยังคงไม่ฟื้นตัวมากนักเพราะต่างชาติยังไม่เข้ามาอย่างมีนัยสำคัญแต่จะค่อยๆดีขึ้นในอีก 1-2 ปีจากนี้ไปดังนั้นจึงมองว่าในอีก 2 ปีโอกาสการผลิตรถยนต์จะไปสู่ระดับ 2 ล้านคันได้แม้ว่ารัฐจะส่งเสริมการใช้อีวี แต่ราคาอีวี เองภาพรวมแม้ว่ารัฐจะมีการส่งเสริมระยะแรกให้นำเข้าโดยมีการอุดหนุนเงินให้สูงสุด 1.5 แสนบาทและลดอากรนำเข้าแต่ราคารวมๆก็ยังคงอยู่ระดับ 7-8 แสนบาทต่อคันหากเทียบกับอีโคคาร์ก็ยังคงสูง ขณะที่สถานีชาร์จเองก็ยังคงไม่เพียงพอ ยังต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาตลาด“นายสุรพงษ์กล่าว
อย่างไรก็ตามคาดว่าตลาดรถอีวี จะเติบโตขึ้นต่อเนื่องและจะเห็นภาพชัดเจนปลายไตรมาส3-4ปีนี้ และคาดว่าจะเกิดการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2567-68 เมื่อมีการตัดสินใจการผลิตในประเทศอย่างเป็นระบบซึ่งก็เป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลวางไว้ที่จูงใจการนำเข้ามาทำตลาดในระยะแรกเพื่อเป็นเงื่อนไขในการนำไปสู่การผลิตภายในประเทศ
ด้านนายศักดิ์ชัย ลีสวรรค์ นายกสมาคมผู้ประกอบการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) กล่าวว่า การที่รัฐส่งเสริมการใช้รถอีวี สมาคมฯเห็นว่ารถขนาดใหญ่ ทั้งรถบรรทุก รถบัส รถดั๊ม ควรส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) แทนซึ่งขณะนี้ บมจ.ปตท.ส่งเสริมให้ส่วนลดราคา 40% ของดีเซลตลอดสัญญา 10 ปีโดยต้องรวมตัวกันเป็นนิติบุคคลเนื่องจากกฏหมายยังไม่เปิดให้เป็นการจำหน่ายแบบสาธารณะ
“ รถเล็กรัฐส่งเสริมไปอีวี แต่รถขนาดใหญ่เช่น บรรทุกหัวลาก รถบัส รัฐควรมองไปที่แอลเอ็นจีโดยตรงเลยจะดีกว่า เพราะที่สุดหากรถจะต้องไปใช้ไฟฟ้า ไฟฟ้านั้นก็ยังคงมาจากฟอสซิลอยู่ดี แล้วรัฐก็ไปส่งเสริมการใช้แอลเอ็นจีที่การผลิตไฟฟ้าอีก ซึ่งหากว่าจะใช้แอลเอ็นจีตรงกับรถเลยจะดีกว่า ในการรับมือกับภาวะโลกร้อนภายใต้ข้อตกลงการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 หรือ COP26”นายศักดิ์ชัย กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ ปลื้มเอกชนเชื่อมั่นนโยบาย BCG ตอบโจทย์ความยั่งยืนของไทย
โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดี องค์กรเอกชนเชื่อมั่นและขานรับนโยบาย BCG ตอบโจทย์ความยั่งยืนของไทย พร้อมเร่งเดินหน้ารัฐบาลมุ่งยกระดับ และเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ สร้างการเติบโตแบบทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม
ส.อ.ท.เผยยอดผลิตรถยนต์ ม.ค.66 ยังโต 4.02% สวนทางยอดขายในประเทศ
ส.อ.ท.เผยยอดผลิตรถยนต์ม.ค.66 โต 4.02% สวนทางยอดขายในประเทศลดลง 5.58% เหตุขาดแคลนชิป พร้อมเกาะติดสถานการณ์โลกใกล้ชิด ลุ้นจีนเปิดประเทศ หนุนสภาพคล่องดี มั่นใจยอดผลิตรถยนต์ยังตามเป้า 1.95 ล้านคัน