ลุ้น เคาะ 2 ชื่อสะพานขึงรถไฟแห่งแรกในไทย ‘สะพานบุรฉัตร & สะพานจุฬาลงกรณ์ 2’

บอร์ด รฟท. เคาะ 2 ชื่อสะพานขึงรถไฟแห่งแรกในไทย ‘สะพานบุรฉัตร & สะพานจุฬาลงกรณ์ 2’ไฮไลท์โครงการรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-ชุมพร เล็งชงคมนาคมพิจารณา มี.ค.นี้ ก่อนเสนอ ครม.ไฟเขียว

17 ก.พ.2565-รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. ซึ่งมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบชื่อสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง (Extradosed Bridge) ตามที่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง รฟท. เป็นผู้เสนอ จำนวน 2 ชื่อ ประกอบด้วย ลำดับที่ 1 สะพานบุรฉัตร และ ลำดับที่ 2 สะพานจุฬาลงกรณ์ 2 คาดว่าภายในเดือน มี.ค.65 รฟท. จะเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

สำหรับสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง ถือเป็นไฮไลท์สำคัญในการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3.39 หมื่นล้านบาท โดยสะพานแห่งนี้ เป็นสะพานขึงรถไฟ (Extradosed Bridge) ข้ามแม่น้ำแม่กลอง อยู่ในสัญญาที่ 1 นครปฐม-หนองปลาไหล มีความคืบหน้าประมาณ 83% ดำเนินการเร็วกว่าแผนเล็กน้อย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างส่วนที่เป็นสแปน(Span) งานโครงสร้างสะพาน ขึงสายเคเบิล และเก็บรายละเอียดในส่วนต่างๆ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วประมาณเดือน เม.ย.65

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สะพานดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณ อ.เมือง จ.ราชบุรี คู่ขนานกับสะพานจุฬาลงกรณ์ ไม่มีเสาตอม่อกลางแม่น้ำ มีตอม่อแค่ 2 ฝั่งแม่น้ำ เป็นทางเดี่ยว มีความยาว 160 เมตร มีความกว้าง 7.64 เมตร แบ่งเป็นทางเดิน 1 เมตร และมีเสา Pylon สูง 17.5 เมตร ถือเป็นสะพานขึงรถไฟแห่งแรก และมีความยาวมากที่สุดในไทย โดยจะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของเมืองราชบุรีด้วย 

อย่างไรก็ตามสำหรับชื่อของสะพานฯ นั้น หากท้ายที่สุดแล้วผู้มีอำนาจสูงสุด ตัดสินใจเลือกชื่อ สะพานจุฬาลงกรณ์ 2 จะต้องเสนอเปลี่ยนชื่อสะพานรถไฟเดิมที่ใช้งานในปัจจุบัน ซึ่งใช้ชื่อว่า สะพานจุฬาลงกรณ์ เป็นสะพานจุฬาลงกรณ์ 1 ในคราวเดียวกันด้วย แต่หากเลือกชื่อ สะพานบุรฉัตร จะไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไร

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ภาพรวมคืบหน้า 92.23% ช้ากว่าแผน 4.80% ซึ่งสัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม – หนองปลาไหล ระยะทาง 93 กม. วงเงินก่อสร้าง 8,198 ล้านบาท โดยบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนี่ยริ่ง 1964 จำกัด คืบหน้า 97.05% เร็วกว่าแผน 1.60%

สัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล – หัวหิน ระยะทาง 76 กม. วงเงินก่อสร้าง 7,520 ล้านบาท โดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) คืบหน้า 92.96% เร็วกว่าแผน 0.002%, สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. วงเงินก่อสร้าง 5,807 ล้านบาท โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) คืบหน้า 99.94% ช้ากว่าแผน 0.06%

สัญญาที่ 4 ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – บางสะพานน้อย ระยะทาง 88 กม. วงเงินก่อสร้าง 6,465 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้าเคเอส-ซี คืบหน้า 84.48% ช้ากว่าแผน 12.65% และ 5. ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร ระยะทาง 79 กม. วงเงินก่อสร้าง 5,992 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า เอสทีทีพี คืบหน้า 85.59% ช้ากว่าแผน 12.65% 

สำหรับงานในส่วนของชานชาลา ซึ่งก่อนหน้านี้สัญญาที่ 3 ได้มีการก่อสร้างชานชาลาต่ำ 50 เซนติเมตร(ซม.)ไปแล้วนั้น ขณะนี้ผู้รับจ้างกำลังเร่งยกให้เป็นชานชาลาสูง 110 ซม. ส่วนสัญญาอื่นๆ ผู้รับจ้างเตรียมโครงสร้างเป็นชานชาลาสูงทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้คาดว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จปลายปี 65 จากนั้นจะติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ 1 ปี และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 67.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การรถไฟฯ โชว์เอกสารยืนยันที่ดิน ‘เขากระโดง’ เป็นกรรมสิทธิของตัวเอง

"การรถไฟฯ" แถลงการณ์ยืนยัน ที่ดิน "เขากระโดง" เป็นกรรมสิทธิของ รฟท. ย้ำมีเอกสาร-ข้อมูล พร้อมยืนยัน ลั่นจะดำเนินการทุกอย่าง เพื่อให้ที่ดินดังกล่าว กลับมาเป็นของ รฟท. เพื่อรักษาสมบัติของแผ่นดิน

'จุลพงศ์' อัด 'กรมที่ดิน-รฟท.' ยื้อปม 'เขากระโดง' ให้วนเวียนเอื้อประโยชน์นักการเมือง

'จุลพงศ์' ยันคำพิพากษา 'เขากระโดง' เป็นกรรมสิทธิ์รฟท.สามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้ อัด'กรมที่ดิน' ใหญ่กว่าศาลเลือกปฏิบัติเพิกถอนสิทธิ์บางแปลงแต่บางแปลงตั้งกก.สอบสวน เอื้อนักการเมือง ข้องใจ 'รฟท.' ไม่เลือกวิธีฟ้องกรมที่ดินให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ทำให้วนเวียนล่าช้า

เขากระโดงลาม! กมธ.ทหารข้องใจ มทบ.26 ก่อสร้างผิดจุดที่ขออนุญาต

'กมธ.ทหาร'แฉกองทัพ สร้างค่ายทหารผิดจุดจากที่ขออนุญาต เลี่ยงพื้นที่เขากระโดงที่ครอบครองโดย 'ตระกูลใหญ่บุรีรัมย์' เรียก รฟท., ผบ.มทบ.26, มท. แจง 28 พ.ย.นี้ 'วิโรจน์' เหน็บมีอิทธิพลขนาดค่ายทหารยังย้ายหนี