ส.อ.ท. โชว์เชื่อมั่นเอกชนฟื้น 5 เดือนติด งวดม.ค.แตะระดับ 88.0 คาดการณ์ไตรมาสต่อไปยังสดใส ลั่นเอกชนเบื่อการเมือง อยากล้างไพ่เลือกตั้งใหม่ หลังไร้เอกภาพ พึ่งพา ครม. ยาก เชื่อเป็นสัญญาณบวก ดันเศรษฐกิจดีขึ้น รับกังวลสินค้าแพง น้ำมันพุ่ง
10 ก.พ. 2565 – นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนม.ค.ว่า แม้ว่า ค่าดัชนีเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 88.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 86.8 ในเดือนธ.ค. 64 เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และกลับมาอยู่ระดับใกล้เคียงก่อนวิกฤตโควิด-19 ในช่วงต้นปี 63 แต่เป็นที่น่าสังเกตเมื่อถามถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มกังวลสถานการณ์โควิด – 19 ลดลง แต่มองปัญหาราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และสถานการณ์การเมืองในประเทศ เริ่มส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นมากขึ้น
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นยู่ที่ระดับ 96.4 จากระดับ 95.2 ในเดือนธ.ค. 2564 เนื่องจากสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ในประเทศไม่รุนแรงและอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยฟื้นตัว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการคาดว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะมีทิศทางดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและนโยบายเปิดประเทศ รวมถึงการขยายตัวของภาคการส่งออก
ส่วนความกังวลสถานการณ์การเมืองที่ระยะหลังเริ่มประสบปัญหา เช่น การประชุมสภาฯ ล่ม , ที่ประชุมครม.มีปัญหา จนล่าสุดเริ่มมีการเรียกร้องให้ยุบสภาฯมากขึ้นนั้น ถามว่า ภาคเอกชนชอบหรือไม่การเลือกตั้ง ก็ตอบว่า ชอบ เพราะส่งผลให้มีเงินสะพัด ตอนนี้อยู่ในโหมดทุกคนเริ่มเบื่อหน่าย ถ้ามีการเลือกตั้ง หรือยุบสภาฯ ก็ไม่ส่งผลทางด้านจิตวิทยาในแง่ลบของภาคเอกชน อาจส่งผลบวกด้วย เพราะกลับมาคึกคักอีกที ในการใช้จ่ายเงินของการเลือกตั้ง งบประมาณต่างๆที่รัฐบาล จะลงเข้ามา กระตุ้นให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวม คึกคักในระยะสั้น ที่สำคัญเลือกตั้งแล้ว อยากเห็นเอกภาพการเมือง เป็นแง่บวกแน่นอน
“สถานการณ์ล่าสุดทางการเมืองยอมรับว่า ลำบากมากขึ้น สภาฯล่มบ่อย ครม.เองก็มีปัญหา ความชัดเจนไม่ค่อยชัดเจน ซึ่งการยุบสภาเลือกตั้งใหม่บางทีภาคเอกชนก็ชอบนะ แต่เลือกตั้งแล้วอยากเห็นความเป็นเอกภาพทางการเมือง รัฐบาลใหม่ทำได้แค่ครึ่งหนึ่งจากที่หาเสียงไว้ก็พอ ตอนนี้การพึ่งพารัฐลำบากมาก คือ ที่มี ไม่มีมีเอกภาพ ถ้ามีเอกภาพได้ก็ดี โอกาสการเลือกตั้ง ทำให้รัฐบาลมีเอกภาพ มีการล้างไพ่ใหม่ ซึ่งหลายๆท่านปรับเปลี่ยนวีธีการใหม่ มีคนใหม่ๆเข้ามา น่าจะส่งผลดีต่อภาคประชาชน ภาคเศรษฐกิจ คงไม่เลวร้ายไปกว่านี้แล้ว ถ้าเลือกตั้งใหม่เวลานี้เอกชนก็จะก้มหน้าก้มตาสู้ต่อไป”นายสุพันธุ์ กล่าว
ทั้งนี้ด้านข้อเสนอแนะต้องการเสนอให้ภาครัฐควบคุมอัตราเงินเฟ้อและเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เช่น มาตรการลดค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ลดราคาก๊าซหุงต้ม และการเพิ่มวงเงินในโครงการคนละครึ่ง รวมทั้งขอให้ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท รวมทั้งการแก้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาสูงเพื่อลดภาระด้านต้นทุนการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ , เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์โควิด-19
ขณะเดียวกันขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ โดยปรับมาตรการเทส แอนด์ โก ให้ลดจำนวนครั้งการตรวจอาร์ที – พีซีอาร์ให้เหลือเพียงครั้งเดียว และให้ใช้วิธีการส่งผลตรวจเอทีเคผ่านระบบ หลังการเดินทางเข้าประเทศ 5 วัน แทนการตรวจด้วยอาร์ที – พีซีอาร์ เพราะวิธีใหม่เท่ากับว่า ต้องตรวจอาร์ที – พีซีอาร์ 2 ครั้ง ทำให้ต้องเสียค่าโรงแรมเข้ามาตรวจ 2 ครั้ง ควรนำระบบเดิมมาใช้ คือ ตรวจอาร์ที – พีซีอาร์ 1 ครั้ง หลังจากนั้นให้ตรวจเอทีเค เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง
“บ้านเราเป็นประเทศเดียวในโลกที่ทำอย่างนี้ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวด้านท่องเที่ยว แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นแต่ยังสู้ช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.ไม่ได้ ล่าสุดได้ไปพบผู้บริหารธุรกิจโรงแรม เขาก็บ่นมา อยากให้ไทยปรับ เพราะฉะนั้นถ้าปรับวิธีกลับมาใช้แบบเดิม เชื่อว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักดีขึ้น”นายสุพันธุ์ กล่าว