นักวิชาการ หนุนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กระตุ้นเศรษฐกิจ

แฟ้มภาพ

“อนุสรณ์”  สนับสนุนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาท เพื่อคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจ เตือนระบบการศึกษามีปัญหาด้านคุณภาพ ส่งผลต่อแรงงาน

6 ก.พ.2565 – รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้กล่าวถึง การเคลื่อนไหวขององค์กรผู้ใช้แรงงานเสนอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาทอัตราเดียวทั่วประเทศ ว่า เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดยการปรับเพิ่มขึ้นเท่าไหร่นั้นควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทุกมิติเพื่อให้เกิดผลดีต่อสวัสดิภาพต่อแรงงานอย่างแท้จริง และเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ ไม่เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ หรือ เกิดปัญหาการเพิ่มขึ้นของการว่างงาน รวมทั้งเพิ่มต้นทุนของการผลิตมากเกินไป การตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและใช้กลไกไตรภาคี การใช้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าแบบกำหนดตามพื้นที่โดยเฉพาะในมิติความเป็นธรรมและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า หลักเกณฑ์ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำว่า อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ นั้น หมายถึง อัตราค่าจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว (ตัวลูกจ้าง + ภรรยา 1+ บุตร 2 คน) ให้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข นั่นคือ เกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เกณฑ์การพิจารณา การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในแต่ละปีนั้น แต่ละประเทศก็จะมีแนวทางและหลักเกณฑ์ของตนเองแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่จะพิจารณาจากการปรับเพิ่มขึ้นของ ภาวะค่าครองชีพ (Cost of Living) ของปีนั้นๆ เป็นหลัก  หากภาวะค่าครองชีพ ปรับเพิ่มขึ้นไปกี่เปอร์เซ็นต์ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำก็จะต้องปรับเพิ่มตามไปเท่านั้น เรียกว่า ปรับเพิ่มตามภาวะค่าครองชีพ (Cost of Living Adjustment) เพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้เพียงพอกับภาวะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ลูกจ้างนั้นจะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเดิมแต่อย่างใด

” หากแต่ปรับเพิ่มให้รายได้มีความสมดุลกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เพื่อมิให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนจากการมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงประสงค์ของค่าแรงงานขั้นต่ำ ก็เพื่อให้ความคุ้มครองทางสังคม และกระจายผลประโยชน์ของการพัฒนาและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มีคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐเป็นผู้พิจารณากำหนด และควรมีกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำพื้นฐานเป็นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ สำหรับจังหวัดที่ไม่ได้กำหนดอัตราของตนเอง หรือ หากไม่ใช้วิธีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ” รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ 

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า เรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่ต้องปรับตัวขึ้นสูงแน่เป็นเพียงแนวโน้มสำคัญหนึ่งของตลาดแรงงานไทยเท่านั้น ยังมีแนวโน้มอื่นๆอีก ที่ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องปรับตัว และ รัฐต้องมีนโยบายและมาตรการอันเหมาะสมในการตอบสนอง ไม่เช่นนั้นแล้วจะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจในมิติใดมิติหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ แนวโน้มที่สำคัญและยังเป็นแนวโน้มที่ช่วยอธิบายเราว่า ค่าจ้างในไทยแพงหรือไม่ คือ ผลิตภาพแรงงานไทยในอนาคตว่าเป็นอย่างไร ปัจจุบันผลิตภาพแรงงานไทย (Labor Productivity) เติบโตในระดับปานกลาง ขณะเดียวกัน ผลตอบแทนของแรงงานก็ลดลงทุกระดับการศึกษา สะท้อนปัญหาด้านคุณภาพของการศึกษาไทย  ผลิตภาพแรงงานโดยเฉลี่ยต่อคนปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบ (Purchasing Power Parity)

รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว พบว่าผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนของไทยปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบ (PPP) อยู่ในระดับปานกลาง  ผลิตภาพการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวและเป็นตัวกำหนดระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลอย่างมากต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผลิตภาพแรงงานเป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในการทำงานของปัจจัยการผลิตด้านแรงงานเพื่อใช้เปรียบเทียบผลงานทางด้านเศรษฐกิจ โดยทำการวัดจากอัตราส่วนของผลผลิตกับจำนวนแรงงานในระบบเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงานในระยะหลังไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นนักเพราะมีปัญหา

” การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะทำให้ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตได้ ขณะเดียวกันระบบการศึกษาก็มีปัญหาทางด้านคุณภาพในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ป้อนเข้าสู่ระบบการผลิตนอกจากนี้แรงงาน (ประชากรในวัยทำงาน) ยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ” รศ.ดร.อนุสรณ์ 

เพิ่มเพื่อน