10 ปีที่รอคอยมาแล้ว ‘หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่’ 20 คัน ปักหมุดให้บริการ พ.ค.นี้

การรถไฟฯ ประเดิมรับมอบ หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่ น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ ระยะที่ 1 จำนวน 20 คัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ รองรับโครงการรถไฟทางคู่ที่จะเปิดใช้งานในอนาคต

4 ก.พ.2565-นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีรับมอบรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) โครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ ระยะที่ 1 จำนวน 20 คัน จากกิจการร่วมค้า เอสเอฟอาร์ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างบริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ณ สถานีรถไฟศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

นายนิรุฒ กล่าวว่า สำหรับรถจักรดีเซลไฟฟ้า ระยะที่ 1 จำนวน 20 คัน เป็นส่วนหนึ่งในแผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ การให้บริการและสร้างรายได้ของการรถไฟฯ โดยถือเป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่ คุณภาพสูง ที่ผลิตโดยบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ซิชูเยียน (CRRC Qishuyan) ผู้ผลิตรถจักรดีเซลชั้นนำของประเทศจีน และมีเครื่องยนต์ที่ผลิตจากประเทศเยอรมนี ซึ่งจะนำมาใช้ทดแทนรถจักรเดิมที่มีอายุการใช้งานมายาวนาน และบางคันมีการใช้งานมากกว่า 50 ปี

“ส่วนระยะที่2 จะมีการส่งมอบปลายปี 2565 จำนวน 30 คัน จึงถือเป็นการพลิกโฉมการการให้บริการครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง การได้มาซึ่งหัวรถจักรในครั้งนี้ จะช่วยให้การรถไฟฯ มีรถจักรเพียงพอต่อการให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าได้มากขึ้น เพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่ที่ทยอยเปิดใช้งานในอนาคต ถือเป็นความสำเร็จ หลังจากรอคอยมานานกว่า 10 ปี โดยหลังจากนี้ รฟท.จะทำการทดสอบระบบ เครื่องยนต์ ระบบไฟฟ้า และความปลอดภัย เป็นระยะเวลา 3 เดือน ก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ค.นี้ ”นายนิรุฒ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การรถไฟฯ ได้มีการเปิดประกวดราคา และลงนามในสัญญาในโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ จำนวน 50 คัน วงเงิน 6,525 ล้านบาท กับกิจการร่วมค้า เอสเอฟอาร์ ไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 โดยมีกำหนดระยะเวลาการส่งมอบรถจักรแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 จำนวน20 คัน ภายในระยะเวลา 540 วัน นับจากวันลงนามฯ และระยะที่ 2 จำนวนที่เหลืออีก 30 คัน ส่งมอบภายปลายปี 2565

อย่างไรก็ตาม รฟท. มั่นใจว่าโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าดังกล่าว จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นรถจักรที่มีความทันสมัย มีสมรรถนะการใช้งานที่ดีกว่าเดิม ซึ่งช่วยให้ทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารมีความรวดเร็ว ปลอดภัย รวมถึงช่วยสร้างโอกาสในการหารายได้ของการรถไฟฯ ตลอดจนเสริมศักยภาพการขนส่งทางรางให้กับประเทศไทยได้อย่างเป็นอย่างดี

สำหรับจุดเด่นของรถจักรดีเซลไฟฟ้าดังกล่าว ได้ถูกออกแบบและผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย มีสมรรถนะในการลากจูงขบวนรถโดยสารได้ความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และลากจูงขบวนรถสินค้าที่ความเร็วสูงสุด 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ มีการติดตั้งระบบห้ามล้ออัตโนมัติ (Automatic Train Protection – ATP) รองรับกับมาตรฐาน ETCS level 1 : (European Train Control System: ETCS) รวมถึง มีเครื่องยนต์รถจักร ผลิตจากประเทศเยอรมนี ซึ่งมีค่ามาตรฐานในการปล่อยควันไอเสียต่ำตามมาตรฐานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนได้ติดตั้งระบบกล้อง CCTV เพื่อบันทึกเหตุการณ์ด้านหน้ารถจักรและเครื่องพ่วงเพื่อยกระดับความปลอดภัยในการเดินรถอีกด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช. แจงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟทางคู่ 9 จังหวัด ภาคใต้

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.เดินหน้าแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศตาม มติ ครม.14 มีนาคม 2566 ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ

'เศรษฐา' ตรวจสถานีรถไฟหัวหิน ภาพรวมดี ผู้โดยสารชมตรงเวลา ราคาประหยัด

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง สวมเสื้อลายไก่ชนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเป็นเสื้อซอฟพาวเวอร์ ประจำจังหวัดพิษณุโลก