‘กรมทางหลวง’ ลงนามสัญญามอเตอร์เวย์“เอกชัย-บ้านแพ้ว” วงเงิน 1.87 หมื่นล้าน คาดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบปี 68 เล็งขยายเพิ่มช่วงบ้านแพ้ว-ปากท่อ 47 กม. มูลค่า 5 หมื่นล้าน จ่อชง ครม. ไฟเขียวปี 70 สร้างเสร็จปี 73 แก้รถติดพระราม 2 เติมเต็มโครงข่ายวิ่งฉิว 20 เลน เชื่อมเดินทางกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ลงสู่ภาคใต้
2 ก.พ.2565-นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานและสักขีพยานพิธีลงนามสัญญาและลงนามข้อตกลงคุณธรรมโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 (M82) สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 1-10 ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.87 หมื่นล้านบาท (กรอบวงเงิน 19,700 ล้านบาท) ว่า ในวันนี้ (2 ก.พ. 2565) ทล. ได้ลงนามสัญญามอเตอร์เวย์ M82 กับเอกชนคู่สัญญา จำนวน 10 ตอน และเริ่มออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง (กองทุนมอเตอร์เวย์) มาดำเนินการในส่วนของงานโยธาฯ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะเชื่อมต่อกับโครงการระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน–เอกชัย ระยะทาง 8 กม. บริเวณ กม. 20+295 ที่ในขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการ มีความคืบหน้า 57% และสิ้นสุดบริเวณ กม.36+645 ใน อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร และสิ้นสุดบริเวณ กม.36+645 ใน อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร นอกจากนี้ ยังเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ด้วย โดยมีรูปแบบโครงการเป็นทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ขนาด 6 ช่องจราจรไป-กลับตลอดเส้นทาง
นอกจากนี้ ทล. ยังมีแผนดำเนินการโครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 82 ช่วงบ้านแพ้ว-ปากท่อ ระยะทาง 47.4 กม. สิ้นสุดที่แยกวังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี โดยคาดว่า จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี 2570 และจะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2573 อีกทั้งในอนาคตจะเชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงแนวใหม่เชื่อมต่อสามแยกวังมะนาว-บรรจบทางหลวงหมายเลข 3510 รวมงานปรับปรุงโครงข่ายทางหลวงเดิม จุดเริ่มต้นที่ กม.0+000 บริเวณสามแยกวังมะนาว ช่วงทางแยกต่างระดับที่บรรจบกันระหว่างทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) และถนนพระราม 2 พื้นที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี และสิ้นสุดที่ กม. 36+718 บนทางหลวงหมายเลข 3510 บริเวณสี่แยกเข้า อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ระยะทางรวม 36.80 กม.
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) รวมทั้งการเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้นโดยเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ด้วยระบบ M-Flow 100% โดยในขณะนี้ ทล. อยู่ระหว่างเตรียมเสนอรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ให้กระทรวงฯ พิจารณา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถประมูล PPP ได้ภายในปี 2565 และดำเนินการติดตั้งระบบในปี 2566-ปลายปี 2567 จากนั้นจึงเปิดให้ประชาชนวิ่งฟรีทดสอบระบบและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2568
ทั้งนี้ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเติมเต็มโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เสริมศักยภาพระบบการขนส่งทางถนนพื้นที่กรุงเทพฯ เชื่อมต่อภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของประเทศให้ก้าวต่อไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ที่สำคัญจะมีส่วนช่วยแบ่งเบาการจราจรบนถนนพระราม 2 โดยเมื่อรวมการขยายเส้นทางถนนพระราม 2 ด้านล่างขนาด 14 ช่องจราจรไป-กลับ ประกอบกับทางยกระดับ 6 ช่องจราจรไป-กลับ จะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางสัญจรได้รวม 20 ช่องจราจรไป-กลับ ตลอดแนวเส้นทาง รวมระยะทางรวม 90.8 กม.
ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี ทล. กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เริ่มสัญญาวันที่ 1 ก.พ. 2565 และสิ้นสุดสัญญาวันที่ 15 ม.ค. 2568 ใช้เวลาก่อสร้าง 1,080 วัน ส่วนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) วงงินประมาณ 12,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอขออนุมัติรูปแบบร่วมลงทุนจากกระทรวงคมนาคม และ ครม. คาดว่าจะเสนอได้ภายใน มี.ค. 2565 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในปี 2565 ก่อนจะวางแผนติดตั้งงานระบบในปี 2566-2568 คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2568
นอกจากนี้ ทล. มีแผนจะดำเนินการ M82 ช่วงบ้านแพ้ว-ปากท่อ ระยะทาง 47 กม. วงเงินประมาณ ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ในปีนี้เตรียมของบประมาณในการศึกษาสำรวจ และออกแบบโครงการ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ รูปแบบคาดว่าจะมีขนาด 6 ช่องจราจร ไป-กลับ รวมทั้งงบประมาณ พื้นที่การเวนคืน และการศึกษาการจัดทำรายงานผลกระทบและสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วเสร็จจะเสนอขออนุมัติ ครม. ในปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี หรือแล้วเสร็จในปี 2573
ทั้งนี้เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จจะทำให้การเดินทางเชื่อมจากกรุงเทพฯ ไปภาคกลงตอนล่าง เพื่อสู่ภาคใต้ พร้อมทั้งจะช่วยเติมเต็มแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี เสริมศักยภาพระบบการขนส่งทางถนนจากในพื้นที่กรุงเทพฯ เชื่อมต่อพื้นที่ภาคใต้ ให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เชื่อมโยง ครอบคลุม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ตลอดจนแบ่งเบาการจราจรบนถนนพระราม 2
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 15 ก.พ.นี้ นายศักดิ์สยามจะลงเปิดใช้งานระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-lane Free Flow) หรือ ระบบ M-Flow บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 หรือวงแหวนกาญจนาภิเษก (บางปะอิน-บางพลี) จำนวน 4 ด่าน ได้แก่ ด่านทับช้าง 1, 2 และ ด่านธัญบุรี 1, 2 อย่างเต็มรูปแบบ
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ขณะนี้ผลการทดสอบเบื้องต้นทราบว่า ตัวเลขของรถที่วิ่งผ่านระบบโดยตรวจจับจากกล้องของระบบ M-Flow กับกล้องกลางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้นับจำนวนรถมีความแม่นยำ 99.99% แล้ว จากนั้นเหลือเวลาอีก 10 กว่าวันที่ทำให้การตรวจสอบตัวเลขให้ตรงกัน ซึ่งสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องการจัดเก็บค่าผ่านทางนั้น ขณะนี้ ทล.เปิดช่องทางในการลงทะเบียนหลายช่องทาง เพื่อให้มาเป็นใช้ระบบ M-Flow อย่างต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลโอ่ผลงานยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออกเชื่อมโยงอีอีซี
รัฐบาลยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออก เพิ่มประสิทธิภาพการจราจร เชื่อมโยงอีอีซี ล่าสุดกรมทางหลวงขยาย 4 ช่องจราจร ทล.3481 ตอน บ้านหัวไผ่ - การเคหะฯ จังหวัดปราจีนบุรี แล้วเสร็จ
กรมทางหลวงจับมือเอกชนลงนามสัญญา PPP พัฒนา “ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา” ยกระดับสู่แลนด์มาร์คระดับโลก ต้นแบบที่พักริมทางครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย
วันนี้ (19 กันยายน 2567) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการโครงการ
ดูกันให้เต็มตา! หนังสือ 'กรมทางหลวง' ถึง ป.ป.ช. 'ไม่ขยายสัมปทานโทลล์เวย์'
สืบเนื่องจาก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
เฮ! ดร.สามารถ แจ้งข่าวดี กรมทางหลวงไม่ขยายสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เฮ ! ทล. “ไม่ขยายสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์”