สรรพากรชี้ชัดจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายกำหนด พร้อมผ่อนปรนภายใต้กฎหมายปัจจุบันยึดผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง และสร้างความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย
28 ม.ค. 2565 ตามที่กรมสรรพากรได้เปิดรับฟังมุมมอง ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ประกอบด้วย สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมฟินเทคประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน เป็นต้น เพื่อให้ได้แนวทางการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน ทั้งยังร่วมกันเสนอแนวคิดและมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันดำเนินการส่งเสริมอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยในอนาคต นั้น
นายเอกนิตินิติทัณฑ์ประภาศอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “จากการที่กรมสรรพากร ได้ทำงานร่วมกับผู้แทนสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งได้มีการส่งแบบสอบถามให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัลไทยในเรื่องการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล นั้น มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามกว่า ๓,๐๐๐ ราย โดยร้อยละ ๘๒ เป็นผู้มีเงินได้จากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่มีเงินได้จากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ซื้อมาเพื่อเก็งกำไร โดยเกือบร้อยละ ๙๐ ทราบมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลของตนเองอย่างชัดเจน
จากผลการรับฟังความคิดเห็น และการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการต่างๆ โดยยึดแนวทางการถือเอาผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง (Taxpayer – Centric) รวมถึงการทำให้ชัด ผ่อนปรน และมองอนาคต อย่างไรก็ดี การประกอบธุรกิจและการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมากโดยเฉพาะในช่วง ๑ – ๒ ปีที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก ๒๔๐ ล้านบาท เป็น ๔,๘๓๙ ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก ๙,๖๐๐ ล้านบาท เป็น ๑๑๔,๕๓๙ ล้านบาท และมีจำนวนบัญชีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก ๑.๗ แสนราย เป็น ๑.๙๘ ล้านราย รวมถึงวิวัฒนาการเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และรูปแบบการทำธุรกรรมต่างๆ มีความหลากหลายและปรับเปลี่ยนรวดเร็วมากตลอดเวลา กรมสรรพากรจึงได้ดำเนินการในส่วนที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการและจะดำเนินการนำเสนอเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนในบางประเด็นเพื่อรองรับกับรูปแบบธุรกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
กรมสรรพากรได้ยึดแนวทาง ทำให้ชัด ผ่อนปรน และมองอนาคต โดยมีข้อสรุปดังนี้
ทำให้ชัด
สำหรับการกำหนดรูปแบบของภาษีเงินได้ ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ทางกรมสรรพากรได้มีแนวทาง ดังนี้
๑. การจัดเงินได้ให้ชัดเจน โดยระบุประเภทเงินได้และผลประโยชน์ให้ครอบคลุมกำไร/รายได้จากการโอน/ผลประโยชน์อันใดจากสินทรัพย์ดิจิทัล
๒.วิธีการ
๒. วิธีการคำนวณต้นทุนโดยใช้วิธีมาตรฐานการบัญชีรับรอง โดยสามารถทำได้ ๒ วิธี คือ วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) โดยสามารถเปลี่ยนวิธีคำนวณในปีถัดไปได้
๓. การวัดมูลค่าสินทรัยพ์ดิจิทัล ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มาทั้งนี้รายละเอียดต่างๆ จะมีอยู่ในคู่มือการชำระภาษีของผู้มีเงินได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทางกรมสรรพากรกำลังพิจารณาร่วมกับ สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และสมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และจะดำเนินการเผยแพร่ในวันจันทร์ที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๕
ผ่อนปรน
กรมสรรพากรได้มีแนวทางในการดำเนินการผ่อนปรนหลายๆ ประการ ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน และยังอยู่ภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากรที่สามารถดำเนินการได้ โดยแบ่งออกเป็นในเรื่องของภาษีเงินได้ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามรายละเอียด ดังนี้
๑. การคำนวณภาษีเงินได้พึงประเมิน (กำไร) นั้น ทางกรมสรรพากรจะดำเนินการเสนอให้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อให้สามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน ซึ่งจะสามารถเข้าเงื่อนไขนี้เฉพาะ ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เท่านั้น
๒. ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น กรณีธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แต่อย่างใด
๓. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจะเสนอพระราชกฤษฎีกาให้ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรมที่กระทำผ่าน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
มองอนาคต
กรมสรรพากรจะพิจารณาหารือร่วมกับชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เชิงนโยบายในอนาคต เพื่อแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสม อาทิ การแก้ประมวลรัษฎากรมาตรา ๕๐ ที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยให้ผ่าน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange เป็นผู้หัก และนำส่งกรมสรรพากร การเปลี่ยนประเภทการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ (Financial Transaction Tax) สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ต้องดูความเหมาะสมและบริบทต่าง ๆ โดยรอบอีกครั้ง”
นายเอกนิตินิติทัณฑ์ประภาศอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การทำงานร่วมกับชุมชนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้กรมสรรพากรได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นและนำผลของข้อมูลต่างๆ มาพิจารณาการบริหารการจัดเก็บภาษีที่ตอบสนองต่อความต้องการของทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการร่วมกันที่จะทำให้กฎหมายภาษีอากรไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และยังคงรักษาหลักการจัดเก็บภาษีอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยยึดถือประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เซ็นแล้ว 'เนต้า' เซ็นเข้าร่วม มาตรการ EV 3.5 กับกรมสรรพสามิต
สรรพสามิตลงนาม MOU กับ “เนต้า ออโต้” ตามมาตรการ EV 3.5 มุ่งเน้นขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ
“ทีทีบี”ตอกย้ำการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน ปักธงภารกิจองค์กรสู่การสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย
การแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบัน เรื่อง “เทคโนโลยีดิจิทัล” กลายมาเป็นไม้เด็ดของหลากหลายธุรกิจ ด้วยความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำสมัย