สินเชื่อแบงก์พาณิชย์ปี 67 ติดลบ 0.4% 'ธปท.' ชี้เหตุเข้มปล่อยกู้ 'คุณสู้ เราช่วย' อืด

‘แบงก์ชาติ’ เผยภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2567 อืด ติดลบ 0.4% สูงสุดในรอบ 15 ปี หลังแบงก์ขึงเกณฑ์เข้มปล่อยสินเชื่อ พร้อมกางยอดลูกหนี้ผ่านเกณฑ์ ‘คุณสู้ เราช่วย’ แค่ 2.4 แสนราย แจงหนี้ครัวเรือนเริ่มลด คาดไตรมาส 4/2567 ต่ำกวา 89% ของจีดีพี

19 ก.พ. 2568 – นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2567 ว่า หดตัว -0.4% ถือเป็นการติดลบสูงสุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 และเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากปี 2566 ที่สินเชื่อหดตัว -0.3% โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 0.5% มาจากสินเชื่อรายใหญ่ที่ขยายตัว 2% หากรวมสินเชื่อภาครัฐจะขยายตัว 3.4% ซึ่งมาจากธุรกิจหันมาขอสินเชื่อผ่านธนาคารมากขึ้น สะท้อนจากการระดมทุนผ่านตลาดที่ติดลบ 2.5% ติดต่อกัน 3 ไตรมาส และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หดตัว -5.0% จากเดิม -5.7%

ขณะที่ภาพรวมสินเชื่อรายย่อยหดตัวทุกประเภทสินเชื่ออยู่ที่ -1.9% โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อในไตรมาสที่ 4/2567 ที่หดตัว -9.9% เป็นการหดตัวต่อเนื่องกัน 4 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลมาจากธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ เพราะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่า ธปท.จะเห็นสัญญาณการยึดรถเข้าลานประมูลน้อยลง ทำให้ราคารถมือสองกลับมาปรับดีขึ้น แต่ยังเป็นสัญญาณที่ ธปท.ต้องจับตาดูอยู่

“ภาพรวมสินเชื่อที่หายไป และหดตัว ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ จากเครดิตผู้กู้ และความต้องการสินเชื่อของธุรกิจที่ไม่ได้ลงทุน แต่ภายหลังจากที่ ธปท.วางโครงสร้างพื้นฐาน เช่น Open Data หรือการค้ำประกันรูปแบบใหม่ น่าจะช่วยเรื่องสินเชื่อได้” นางสาวสุวรรณี กล่าว

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 2567 ปรับลดลงทั้งปริมาณ และสัดส่วน โดยปริมาณหนี้เสียอยู่ที่ 5.50 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.78% ลดลงจากไตรมาสที่ 3/2567 ซึ่งอยู่ที่ 5.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.97% หรือเป็นหนี้เสียที่ปรับลดลงราว 2 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการปรับลดลงในรอบหลายไตรมาส ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ NPL ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.82% เป็น 3.88% โดยคาดว่า “มาตรการคุณสู้ เราช่วย” จะทำให้หนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยปรับดีขึ้นในรอบไตรมาสถัดไป

โดย NPL สินเชื่อธุรกิจ ปรับลดลงจาก 3.24% ในไตรมาสที่ 3/2567 มาอยู่ที่ 3.20% ในไตรมาสที่ 4/2567 สินเชื่อเอสเอ็มอีปรับลดลงจาก 7.01% มาอยู่ที่ 6.92% สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ ลดลงจาก 1.18% มาอยู่ที่ 1.00% และสินเชื่อธุรกิจรายย่อยจาก ลดลงจาก 3.24% มาอยู่ที่ 3.20% โดยเช่าซื้อ ลดลงจาก 2.34% อยู่ที่ 2.17% และบัตรเครดิต ปรับลดลงจาก 3.65% เหลือ 3.12% เป็นผลมาจากการคงมาตรการชำระขั้นต่ำ (Minimum Payment)

ทั้งนี้ การปรับลดลงของหนี้ NPL ส่วนใหญ่ จะมาจากการปลดการจัดชั้นหนี้เสียของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อเอสเอ็มอี และรายย่อย ที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านมาตรการการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ที่ลูกค้าสามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข และถูกขยับชั้นจาก Stage 3 เป็นสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage 2) เพิ่มขึ้นมาอยู่ 6.98% โดยปัจจุบัน ตัวเลขปรับโครงสร้างหนี้สะสมอยู่ที่ 7.18 ล้านบัญชี และคิดเป็นมูลหนี้อยู่ที่ 2.66 ล้านล้านบาท

“ผลการดำเนินงานปี 2567 ปรับดีขึ้นจากปีก่อน จากทั้งรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ตามการวัดมูลค่าตราสารทางการเงินเป็นสำคัญ และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองลดลงจากการตั้งสำรองสูงในปีก่อน แต่ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจเอสเอ็มอี และครัวเรือนบางกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวช้าและมีภาระหนี้สูง รวมถึงธุรกิจในกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง และความสามารถในการแข่งขันปรับลดลง ตลอดจนติดตามผลสำเร็จของการให้ความช่วยเหลือภายใต้โครงการคุณสู้ เราช่วย” นางสาวสุวรรณี ระบุ

อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ในไตรมาส 3/2567 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพี ปรับลดลงตามการหดตัวของสินเชื่อ และตราสารหนี้ ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะภาคการผลิต แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว ขณะที่คาดว่าแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4/2567 น่าจะต่ำกว่า 89% ของจีดีพี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นางสาวสุวรรณี กล่าวอีกว่า ในส่วนของโครงการคุณสู้ เราช่วย นั้น จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 16 ก.พ. 2568 มีผู้ลงทะเบียน 8.2 แสนราย หรือคิดเป็น 9.9 แสนบัญชี ซึ่งจากการสำรวจข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค.2568 พบว่า มีผู้ลงทะเบียนอยู่ที่ 6.3 แสนราย แต่มีผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเพียง 2.4 แสนราย คิดเป็นสัดส่วน 38% ของผู้ลงทะเบียน ถือว่าค่อนข้างน้อย โดยมาจาก 3 ส่วนหลัก 1.ลงทะเบียนผิดเจ้าหนี้ 2.ผู้ลงทะเบียนเป็นลูกหนี้ที่ดี ไม่ได้ค้างชำระหนี้ 3.ลูกหนี้มียอดวงเงินเกินกำหนด และ 4.ลูกหนี้ปิดบัญชีไปแล้ว ขณะที่โครงการคุณสู้ เราช่วย ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non bank) มีผู้ร่วมโครงการ 2 ราย ซึ่งปัจจุบันก็มีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วม แต่จะต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติของธนาคารออมสิน เนื่องจากเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ให้ Non bank จึงต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้วย

เพิ่มเพื่อน