พลิกวิกฤติใบยาสูบโลก สู่โอกาสทองของชาวไร่ยาสูบไทย

สภาพอากาศสุดขั้วก็ทำให้เกิดภัยแล้งในหลายภูมิภาคของโลก กระทบภาคการเกษตรที่ทำให้ผลผลิตลดลง ดึงราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกให้พุ่งทยาน อุตสาหกรรมใดมีสินค้าเกษตรในห่วงโซ่อุปทานต่างโอดครวญกับต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ไม่ใช่กับอุตสาหกรรมยาสูบ และชาวไร่ยาสูบไทย เพราะตั้งแต่ต้นปี 2568 การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ได้มอบของขวัญแก่ชาวไร่ยาสูบในสังกัดเป็นการประกาศรับซื้อใบยาไม่อั้น แจกจ่ายรอยยิ้มถ้วนหน้าหลังทนทุกข์ทรมานร่วมกันมาเกือบทศวรรษ

30 ม.ค. 2568 – การประกาศรับซื้อใบยาสูบครั้งนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อนำมาผลิตบุหรี่เป็นหลัก เพราะ ยสท. ขายบุหรี่ได้ต่ำกว่าเป้าหมายมาหลายปีแล้วทั้งในกลุ่มราคาสูงและกลุ่มราคาประหยัด แต่การรับซื้อใบยาไม่อั้นมีจุดประสงค์เพื่อส่งออก เพราะเป็นโชคดีของประเทศไทยที่สามารถปลูกยาสูบได้ต่อเนื่อง ต่างจากประเทศผู้ส่งออกยาสูบรายใหญ่อย่าง บราซิล อินโดนีเซีย และอินเดีย ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ผลผลิตยาสูบไม่เป็นไปตามปริมาณที่คาดหวังไว้ สร้างโอกาสทองในการสร้างรายได้มหาศาลให้กับ ยสท. ผ่านการส่งออกใบยาไทยสู่ตลาดโลก

โดยในปี 2565-2566 การขายใบยาสร้างรายได้ 44.44 และ 31.48 ล้านบาทให้กับ ยสท. ในปี 2566-2567 การขายใบยาสูบเพื่อส่งออกมีแนวโน้มเติบโต เสริมรายได้จากการขายบุหรี่ของ ยสท. ได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การยาสูบฯ ไม่ควรพึ่งพารายได้จากการส่งออกใบยามากจนเกินไป เพราะหากดูรายได้หลักจากการขายยังทรงๆ ทรุดๆ ไม่สามารถสร้างรายได้จากบุหรี่ในกลุ่มราคาสูงได้เท่าที่ควร ปัจจุบันสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบของยสท. อยู่ในตลาดราคาประหยัด (ต่ำกว่า 72 บาท) กว่า 95% และตลาดราคาสูง (มากกว่า 72 บาท) เพียง 5% เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาเชิงโครงสร้างจากข้อจำกัดด้านภาษียังคงอยู่ กระทบความสามารถในการแข่งขันของสินค้ากลุ่มราคาสูงที่สร้างรายได้มากกว่า แถมยังโดนพิษจากบุหรี่เถื่อนและบุหรี่ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างมากเล่นงานเข้าอย่างจังจนรายได้ลดต่อเนื่อง

แม้จะมีท่าทีจากภาครัฐในการนำเสนอโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ในรูปแบบอัตราเดียวตามหลักสากล แต่ท่าทีของผู้ผลิตหนึ่งเดียวของไทยก็ยังคงไม่ชัดเจนทั้งๆ ที่มีโอกาสทำกำไรได้มากขึ้นจากพื้นที่ว่างด้านราคา (white space) ที่ยังไม่มีการแข่งขัน ดังนั้น อะไรที่สามารถสร้างเม็ดเงินได้ก็ต้องรีบคว้าไว้ โอกาสทางธุรกิจอยู่ไม่นาน แต่ความมั่นคงของเกษตรกรจะอยู่ตลอดไป การรับซื้อใบยาไม่จำกัดเป็นสัญญาณที่ดีที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ และต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรไทยผลิตใบยาสูบที่มีคุณภาพสูงขึ้นตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความยั่งยืนให้กับอาชีพการเกษตร โดยเฉพาะการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การผลิตที่ดีทางการเกษตร (GAP) เพื่อให้ได้ใบยาสูบที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมยาสูบโลก และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

การปฏิบัติตามหลัก GAP จะช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถควบคุมคุณภาพของใบยาสูบได้ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การดูแลรักษา ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ทำให้ได้ใบยาสูบที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ หลัก GAP ยังช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ทำให้สามารถขายใบยาสูบได้ในราคาที่สูงขึ้น นอกจากนี้ การส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร จะช่วยให้เกษตรกรมีอำนาจในการต่อรองราคา และสามารถเข้าถึงตลาดได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นด้วย

ทุกวิกฤตจะมีโอกาสเสมอหากพร้อมจะปรับตัว เช่นเดียวกับการยาสูบฯ และชาวไร่ยาสูบไทย ที่เลือกจะใช้โอกาสนี้ในการก้าวออกไปสู่เวทีการค้าโลก และเพิ่มเวลาให้การยาสูบฯ และรัฐบาลได้ทบทวนปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบธุรกิจหลักของอุตสาหกรรมบุหรี่ เพราะหากธุรกิจหลักยังไม่สร้างรายได้ ก็ยากที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งอุตสาหกรรมยาสูบในระยะยาว

เพิ่มเพื่อน