'คลัง' รับศก.67สุดอืดโตแค่ 2.5% โอดอุตฯรถยนต์ฉุดหนัก ลุ้นปีนี้วิ่งแรง 3.5%

อั้นไม่ไหว!! ‘คลัง’ รับเศรษฐกิจไทยปี 67 แผ่วเหลือโต 2.5% จากคาดการณ์ 2.7% โอดอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปดิ่งหนัก ฉุดไตรมาส 4 ไม่ฟื้น เดินหน้าเข็นจีดีพีปี 68 หวังทะยานแตะ 3.5% กาง 5 แผนหนุนเต็มสูบ โวเงินหมื่น เฟส 1 ช่วยประคองเศรษฐกิจโตเพิ่ม 0.3%

30 ม.ค. 2568 – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวได้ที่ระดับ 2.5% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 2.7% เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2567 แตกต่างจากคาดการณ์มาก ซึ่งเป็นผลมาจากตัวเลขภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงมากกว่าประมาณการ โดยเฉพาะการชะลอตัวลงของอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาป ซึ่งในเดือน พ.ย. 2567 ยอดการผลิตรถยนต์ติดลบสูงถึง 20% กว่า รวมถึงนักลงทุนชะลอการลงทุน ตลอดจนการผลิตที่ลดลงด้วย ซึ่งภาคอุตสาหกรรมมีน้ำหนักคิดเป็น 26% ของจีดีพี

ขณะที่มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะยังอยู่ที่ระดับ 3% เท่าคาดการณ์เดิม จาก 4 ปัจจัยสนับสนุนหลัก ได้แก่ 1. การบริโภคภาคเอกชน ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.3% ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 2. มูลค่าการส่งออก ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.4% ต่อปี สอดคล้องกับความต้องการสินค้าของตลาดโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น 3. ภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 38.5 ล้านคน ซึ่งเป็นปัจจับสนับสนุนรายได้จากการท่องเที่ยวและส่งเสริมภาคบริการ ภาคการผลิตที่เกี่ยวข้อง

และ 4. การลงทุน โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 2.7% จากการเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนโดยบีโอไอ ซึ่งมีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงกว่า 1.14 ล้านล้านบาทในปี 2567 สูงสุดในรอบ 10 ปี และมีโครงการยื่นขอส่งเสริมกว่า 3.1 พันโครงการ ที่คาดว่าจะทยอยลงทุนจริงภายใน 1-4 ปี หลังการอนุมัติ ส่วนการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.4% จากความต่อเนื่องในการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนและเร่งรัดโครงการสำคัญเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งแรงหนุนจากการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2568 ยังส่งผลให้การบริโภคภาครัฐในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 1.3%

ทั้งนี้ มองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีโอกาสที่จะขยายตัวได้ถึง 3.5% หากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศเอื้ออำนวย รวมถึงมีการเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินงานของนโยบายต่าง ๆ 5 เรื่องอย่างเต็มที่ ได้แก่ 1. การเร่งรัดเบิกจ่าย ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนให้ได้ 80% จากเป้าหมาย 75% ซึ่งการเพิ่มขึ้น 5% คิดเป็นวงเงิน 4.56 หมื่นล้านบาท จะช่วยให้จีดีพีขยายตัวเพิ่ม 0.11% และ 2. ติดตามกระบวนการใช้จ่ายของดิจิทัล วอลเล็ต เฟส 3 ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่เกินไตรมาส 2/2568 โดยในส่วนนี้จะทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.1% จากกรณีปกติ

3. ติดตามการลงทุนโครงการบ้านเพื่อคนไทย โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนในปีนี้ ราว 830 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มได้ 0.002% ไม่นับรวม Forward Linkage 4. กระตุ้นการท่องเที่ยวในภาพรวม โดยเฉพาะช่วงการจัดแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ในปลายปีนี้ ซึ่งหากกระตุ้นให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นได้ 5 แสนรายจากเป้าหมาย จะช่วยให้จีดีพีขยายตัวเพิ่ม 0.15% และ 5. การเร่งรัดโครงการลงทุนของเอกชนที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะโครงการ Data Center และ Cloud Region หากลงทุนจริงได้รวม 7.5 หมื่นล้านบาท จะช่วยสนับสนุนจีดีพี 0.19%

“ถ้าทำได้หมดทั้ง 5 ข้อ ก็มีโอกาส 100% ที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวแตะ 3.5% ซึ่งคลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตร่วมกับหน่วยงานทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ผ่านเครื่องมือการคลังในมิติต่าง ๆ ส่วนนโยบายการเงินก็จะต้องดำเนินการควบคู่กันไป โดยในเดือน ก.พ. นี้ จะมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์) เพื่อพูดคุยเรื่องทิศทางเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ว่ารูปแบบจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดคุยกันปกติอยู่แล้ว แต่อาจจะเข้มข้นมากขึ้น” นายพรชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดด้วย ได้แก่ แนวนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ การนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายสหรัฐที่เพิ่มขึ้นกับผลกระทบต่อภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไทย ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในหลายภูมิภาค และปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจของไทย ซึ่งอาจกระทบกำลังซื้อและการใช้จ่ายในระยะต่อไป

ขณะที่ผลจากโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ให้กับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มเปราะบาง วงเงิน 1.45 แสนล้านบาท นั้น ได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจราว 0.3% จากการเก็บข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ พบว่า กว่า 76% ของผู้ที่ได้รับเงินมีการใช้จ่ายจริง โดยในส่วนนี้กว่า 96% เป็นการใช้จ่ายกับร้านค้าชุมชน และร้านค้าขนาดเล็ก ซึ่งสะท้อนกว่าได้มีเม็ดเงินในส่วนนี้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจขนาดเล็กอย่างแท้จริง และส่วนที่เหลือมีการเก็บออมและนำไปชำระหนี้ ขณะที่ประชาชนที่ได้รับเงินราว 70-80% มีการวางแผนการใช้เงินระยะสั้นช่วง 1-3 ปี ซึ่งในส่วนนี้ได้ส่งผลดีมาถึงต้นปี 2568 ด้วย

นายพรชัย กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการติดตามและประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งหลายนโยบายค่อนข้างดุเดือด ชัดเจน และดำเนินการทันที ขณะที่มีอีกหลายนโยบายที่ยังไม่ได้ดำเนินการ จึงต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด แต่เบื้องต้นมองว่าผลจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้า ซึ่งอาจมีผลต่อภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าคอมพิวเตอร์ ยางพารา และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขณะเดียวกันอาจจะมีผลทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง แม้ว่ามาตรการด้านภาษีที่จะดำเนินการกับจีนจะยังไม่ชัดเจน ซึ่งในส่วนนี้อาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยจากจีนลดลง ตลอดจนจีนอาจจะมีการเร่งระบายสินค้าออกมา ทำให้สินค้าไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น

ดังนั้น ไทยจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก ใน 3 มิติใหญ่ ๆ คือ 1. การกระจายตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้า 2. เร่งรัดการลงทุนในประเทศ ซึ่งช่วยทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น และ 3. ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างไรก็ดี ในส่วนของการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นั้น ผู้อำนวยการ สศค. ระบุว่า ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามาอย่างใกล้ชิด โดยเชื่อว่าประเด็นนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องนำเรื่องนี้ไปประกอบการพิจารณาการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยด้วย แต่หากพิจารณาจากข้อมูลในอดีต จะพบว่าทุกครั้งที่เฟดมีการขับเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในส่วนของไทยอีกราว 1 ไตรมาสต่อมาก็จะมีการขยับตัวตามไปด้วย

เพิ่มเพื่อน