เศรษฐกิจของประเทศไทย ดูซึมเซามาหลายปี ดัชนีตลาดหุ้นไทย มีทิศทางแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก คือ ลดต่ำลง หรือ ทรงตัวในระดับต่ำ การที่ราคาหลักทรัพย์ของประเทศไทยปรับตัวลดลง ย่อมส่งผลให้ความมั่งคั่งของประเทศน้อยลงไปเรื่อยๆ ตามดัชนีหลักทรัพย์ นอกจากนั้น คนวัยทำงาน ซึ่งในอดีตอาจจะปรับลดภาระหนี้ลงได้ จากกำไรการลงทุนในหลักทรัพย์ (Capital Gain) เริ่มหมดโอกาสลงไปเรื่อยๆ เห็นได้จากภาระหนี้ต่อครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูงเกินกว่าร้อยละ 90 ของ GDP มาโดยตลอด
ประเทศไทยขาดแคลนนวัตกรรมใหม่ แม้อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร จะได้สร้างความมั่นคง และรักษาระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยมาหลายทศวรรษแล้ว แต่การที่ประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ความอ่อนด้อยของการวิจัยที่สามารถนำไปสู่เศรษฐกิจมูลค่าเพิ่มอย่างแท้จริง ล้วนส่งผลกระทบต่อขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ไม่สามารถเติบโตได้เกินกว่าระดับเฉลี่ยร้อยละ 5 เหมือนประเทศเพื่อนบ้านในเขต AFTA
จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องมุ่งหาอุตสาหกรรมที่สามารถดึงเม็ดเงินเข้าประเทศไทยให้ได้โดยเร็ว ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าว ควรอยู่บนพื้นฐานทรัพยากรของประเทศไทยที่มีในประเทศ โดย ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ที่ดี หรือ Wellness เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูง เพราะประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งนี้มูลค่าตลาดธุรกิจ Wellness ในประเทศอันดับต้นๆ ของโลก คือ สหรัฐอเมริกา 1.8 ล้านล้านเหรียญ สรอ. (ประมาณ 63 ล้านล้านบาท) จีน 0.79 ล้านล้านเหรียญ สรอ. (ประมาณ 27.65 ล้านล้านบาท) เยอรมันนี 0.26 ล้านล้านเหรียญ สรอ. (ประมาณ 9.42 ล้านล้านบาท)
การที่อุตสาหกรรม Wellness มีขนาดใหญ่มาก เนื่องจากค่านิยมของคนรุ่นใหม่ ที่มุ่งเน้นการรักษาสุขภาพ หรือ Life Balance ซึ่งครอบคลุมการบริหาร ความสัมพันธ์ระหว่าง การทำงาน และ การใช้ชีวิตส่วนตัว ทั้งในแง่ของร่างกาย และอารมณ์ ค่านิยมเช่นนี้เรียกโดยรวมว่า คุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ซึ่งนโยบายส่งเสริม soft power ของประเทศไทย เช่น มวยไทย อาจถือเป็นส่วนหนึ่งของ wellness business ได้เช่นกัน
ที่ผ่านมานโยบายส่งเสริม Thailand Medical Hub ครอบคลุมด้าน Wellness Service แต่การที่ภาครัฐ ไม่พยายามส่งเสริมการกระจายธุรกิจ Wellness ให้สามารถดำเนินการได้อย่างอิสระมากขึ้น จากธุรกิจการแพทย์ อาทิ การเพิ่มประเภทการให้บริการในธุรกิจ คลินิกกายภาพ หรือคลินิกกายภาพบำบัด ให้ครอบคลุมการให้บริการโดยเครื่องมือสมัยใหม่ อาทิ เครื่อง EECP (Enhanced External Counter Pulsation) โดยเครื่อง EECP สามารถช่วยการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น มีความเสี่ยงต่อการใช้บริการน้อย ซึ่งกลไกการตรวจสอบประวัติสามารถใช้เทคโนโลยี Telemedicine ช่วยคัดกรองผู้ขอรับบริการ การเพิ่มขึ้นของผู้ให้บริการ EECP จะช่วยลดราคาของการบำบัดให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ทั้งนี้เครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้ เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการลดความเสี่ยงของการรักษาโรคเรื้อรังกลุ่มโรคไม่ติดเชื้อ (Non Infectious Disease)
กล่าวโดยสรุป โครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ขาดนวัตกรรมในการสนับสนุนการเติบโตของประเทศ การใช้ทรัพยากรในประเทศ สร้างรายได้นักท่องเที่ยวจากธุรกิจ wellness จะช่วยให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่ให้ค่าตอบแทนสูง มีความเสี่ยงจากการทดแทนจาก AI ต่ำ ขณะเดียวกันการส่งเสริมงานวิจัยในบริษัทเอกชน หรือสถาบันการศึกษาในงานด้าน วิศวกรชีวการแพทย์ ที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนา ออกแบบอุปกรณ์ เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการรักษา หรือป้องกันการเกิดโรค จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีความมั่นคง ระหว่างที่รอคอย New S Curve ของประเทศไทย ท่ามกลางปัจจัยลบสำคัญอย่างอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงอย่างมาก ทั้งหมดนี้ได้แต่หวังว่ารัฐบาลในฐานะหัวเรือการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จะรีบเร่งดำเนินการ ก่อนที่เรือประเทศไทย จะค่อยๆ จมดิ่ง ขาดภาพลักษณ์ของการเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่มีความรุ่งโรจน์ ในหลายทศวรรษก่อนหน้าโดยสิ้นเชิง
รศ. ดร. ภัทรกิตติ์ เนตินิยม
หัวหน้าภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์