“หนี้ครัวเรือน” ถูกยกให้เป็น ระเบิดเวลา เบอร์ต้นๆ ที่จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยที่อยู่ในระดับน่าเป็นห่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าหลายหน่วยงานจะออกมาให้ความสำคัญกับแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่สะเด็ดน้ำมากนัก สะท้อนจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่แทบจะไม่ลดลงเลย
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ที่ระบุถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 3/2567 ว่ายังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยตัวเลขหนี้เสีย (NPL) หรือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วันในฐานข้อมูลของเครดิตบูโร ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 เพิ่มขึ้นถึง 14.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 1.2 ล้านล้านบาท เรียกว่าเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์!! โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 8.8% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมดที่ราว 13.6 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี
สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการเครดิตบูโร กล่าวว่า ที่น่ากังวลมากที่สุดตอนนี้คือหนี้จากสินเชื่อเอสเอ็มอีที่เติบโตถึง 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 5.2% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่หนี้เสียจากสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ยังอยู่ในระดับที่ทรงตัว หรือมีการขยายตัวไม่มากจากไตรมาสก่อนหน้า จากหนี้เสียทั้งหมด 1.2 ล้านล้านบาท
และหากมาพิจารณาจากรายงานภาระหนี้สินภาคครัวเรือนจากสถาบันการเงิน 157 แห่งที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร ครอบคลุมประชาชนคนไทย และผู้มีถิ่นฐานในประเทศไทยที่มีหนี้สินกับสถาบันการเงินสมาชิก ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมประมาณกว่า 30 ล้านคน พบว่า หนี้ครัวเรือนในระบบเครดิตบูโรอยู่ที่ 13.6 ล้านล้านบาท จากหนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมด 16.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวลดลง -0.2% จากไตรมาสก่อนหน้า
นั่นหมายถึง “สินเชื่อไม่โต” โดยเศรษฐกิจในไตรมาส 3/2567 เติบโต 3% และในช่วง 9 เดือนของปี 2567 โต 2.3% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจคนตัวเล็ก -4.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน, สินเชื่อเบิกเกินบัญชี -4.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนี้เสียก็เป็นไปตามคาด คืออยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาทนั่นเอง
ส่วนหนี้กลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ยอดคงค้างในไตรมาส 3/2567 มาหยุดที่ 4.8 แสนล้านบาทโดยประมาณ ลดลงจากทั้งไตรมาสก่อนหน้า และจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่า น่าจะเบาใจขึ้นได้บ้าง!! สุรพล ระบุ
“สุดท้ายคือ การปรับโครงสร้างหนี้หลังเป็นหนี้เสียที่เรียกว่าทำ TDR ซึ่งตัวเลขสะสมมาอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.6% ของหนี้ครัวเรือนในระบบเครดิตบูโรที่ 13.6 ล้านล้านบาท ที่ไม่ค่อยดีคือ มันอืด มันไม่เติบโต โดยจากไตรมาสก่อนหน้า ติดลบประมาณ 3% ในส่วนของ DR หรือปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันก่อนเป็นหนี้เสีย ยอดสะสมตั้งแต่ เม.ย.2567 มาหยุดที่ 1.2 ล้านบัญชี หรือราว 6.45 แสนล้านบาท”
แน่นอนว่าเรื่องนี้ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนที่จะใช้วัดฝีมือของรัฐบาล เพราะการที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูงเกินไปและเป็นเวลานานเกินไป ก็เหมือนเป็นการแช่แข็งเศรษฐกิจไทย กระทบกับการจับจ่ายใช้สอย การบริโภคของประชาชน ลามไปถึงระบบการเงิน ซึ่งอาจทำให้ความหวังที่จะได้เห็นเศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพอาจจะห่างไกลออกไปในที่สุดนั่นเอง
ขณะที่ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 4/2567 อยู่ที่ระดับ 89% ของจีดีพี ลดลงจาก 89.8% ของจีดีพีในไตรมาสก่อนหน้า แต่สิ่งที่ ธปท.ให้ความสำคัญยิ่งกว่าคือ มูลหนี้ที่เกิดขึ้นจะไปกระทบความเป็นอยู่ภาคครัวเรือน โดยเฉพาะหนี้บ้านและหนี้รถยนต์ที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพในกลุ่มเปราะบาง
“สิ่งที่ ธปท.อยากเห็นคือ การเพิ่มรายได้ให้แก่ภาคครัวเรือน แนวทางการลดหนี้ใหม่ที่จะเกิดขึ้น แต่ต้องไม่ลดลงมากจนกระทบสภาพคล่องครัวเรือน และยังต้องติดตามผลของมาตรการคุณสู้ เราช่วย ว่าจะช่วยส่งผลต่อสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไปในทิศทางใด” สักกะภพ กล่าว
ดูเหมือนเรื่องนี้ “รัฐบาล” ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้ออกมาเทกแอ็กชันอยู่พอสมควร โดยระบุว่า ระดับหนี้ครัวเรือนที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยควรอยู่ที่ราว 70% ต่อจีดีพี แต่ปัจจุบันอยู่ที่ราว 90% ต่อจีดีพี นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อไป
เพราะไม่เพียงประชาชนจะมีปัญหาหนี้ในระดับสูงเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องความสามารถในการชำระหนี้อีกด้วย โดยจากตัวเลขหนี้ 16 ล้านล้านบาท พบว่ามีหนี้ที่ครบกำหนดชำระแล้วและไม่สามารถชำระได้อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท นั่นเป็นเหตุผลที่รัฐบาลได้เร่งผลักดัน โครงการคุณสู้ เราช่วย ออกมา เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 1 ปี ซึ่งมีมูลหนี้ราว 8-9 แสนล้านบาท ด้วยการพักดอกเบี้ยไว้ 3 ปี และในช่วง 3 ปีนี้ให้ผ่อนเงินต้นลดลงจากเดิม โดยปีแรกผ่อน 50% ของค่างวดเดิม และปีที่ 2 เพิ่มเป็น 70% ส่วนปีที่ 3 ขยับขึ้นเป็น 90%
ทั้งนี้ หากลูกหนี้ที่เข้า โครงการคุณสู้ เราช่วย สามารถทำตามเงื่อนไขได้ก็จะได้รับการยกอัตราดอกเบี้ยเหล่านั้นให้ โดยในช่วง 3 ปีนี้คิดเป็นภาระดอกเบี้ยที่จะยกให้ลูกหนี้ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลและสถาบันการเงินจะร่วมกันออกคนละครึ่ง
สำหรับ โครงการคุณสู้ เราช่วย ปิดหนี้ได้ไว ไปต่อได้เร็ว เป็นโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอี ซึ่งกระทรวงการคลัง, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์, สมาคมธนาคารไทย, สมาคมธนาคารนานาชาติ, สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) บางแห่ง ได้ร่วมกันผลักดันมาตรการชั่วคราวเพิ่มเติมดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอีเฉพาะกลุ่ม โดยมีกลไกการส่งเสริมวินัยทางการเงินควบคู่ไปกับการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการเสียวินัยในการชำระหนี้ (moral hazard) ในภายหลัง
โดยมียอดหนี้ที่เข้าเกณฑ์ของโครงการประมาณ 2 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 8.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6-7 แสนบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ราว 4.5 แสนล้านบาท และหนี้ของธนาคารพาณิชย์ 1.5 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าหากเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เข้าข่ายในโครงการ จะช่วยลดหนี้ครัวเรือนไทยได้หลาย 10% จากปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 90% หรือ 16 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้เป็นหนี้เสียราว 1 ล้านล้านบาท
ด้าน เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นงานที่ ธปท.ให้ความสำคัญและผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการนี้มี 2 จุดสำคัญที่ต่างจากที่ผ่านมา คือ 1.การปรับโครงสร้างหนี้ที่เน้นตัดเงินต้น และลดภาระผ่อนในช่วง 3 ปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ และ 2.การร่วมสมทบเงิน (Co-Payment) จากภาครัฐและสถาบันการเงิน เพื่อช่วยลดภาระจ่ายของลูกหนี้
ชื่อของโครงการนี้สะท้อนความตั้งใจของทุกฝ่าย โดย “คุณสู้” สะท้อนถึงลูกหนี้ที่พร้อมจะสู้ต่อไปในการแก้ไขปัญหาหนี้ ส่วน “เราช่วย” คือ ภาครัฐและสถาบันการเงินที่พร้อมช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อลดภาระและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น ดังนั้นความสำเร็จของโครงการนี้จึงถือเป็นความร่วมมือจากทั้งลูกหนี้ ภาครัฐ และเจ้าหนี้ ในการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน!!
ขณะที่ ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า คาดว่าจะสามารถให้การช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงบริษัทลูกในกลุ่มได้ราว 1.5 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท โดยการร่วมมือกับภาครัฐเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้โครงการนี้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมธนาคารไทยในการจัดการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ไม่ทำให้ใครต้องตกไปอยู่นอกระบบจากโครงสร้างหรือข้อจำกัดของระบบ และภายใต้ โครงการคุณสู้ เราช่วยนั้น ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบอย่างเป็นธรรม กระตุกพลังในการปรับโครงสร้าง เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
ด้าน Mr. Giorgio Gamba ประธานสมาคมธนาคารนานาชาติ กล่าวว่า เห็นพ้องกับแนวทางการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของสถาบันการเงินในการช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการสมทบเงินร่วมกับภาครัฐ (Co-Payment) ผ่านกลไกการจัดตั้งแหล่งเงินทุนกลางภายใต้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) โดยสมาคมธนาคารนานาชาติยินดีให้ความร่วมมือและดำเนินการตามโครงการ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางให้สามารถชำระหนี้และไปต่อได้
วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ระบุว่า โครงการนี้จะช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีโอกาสรอดให้สามารถฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ และยังมีการออกแบบกลไกการส่งเสริมวินัยทางการเงิน ควบคู่กับการป้องกันไม่ให้ลูกหนี้เสียวินัยในการชำระหนี้ด้วย
“คาดว่ามีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้ง 2 มาตรการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐประมาณ 6 แสนบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 4.5 แสนล้านบาท” วิทัย กล่าว
อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินของรัฐยังอยู่ระหว่างการหารือกับ ธปท.และกระทรวงการคลัง ในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้กลุ่ม Non-bank รวมถึงการพิจารณามาตรการเพิ่มเติม เพื่อส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้กลุ่มเปราะบางในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งจะไม่ทับซ้อนกับกลุ่มลูกหนี้ของโครงการนี้
สำหรับ โครงการคุณสู้ เราช่วย นั้น จะประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและพักภาระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดเวลา 3 ปีจะได้รับการยกเว้น และหากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดระยะเวลาของมาตรการ (ชำระเงินตรงเวลาและไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกของการเข้าโครงการ)
ทั้งนี้ มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” มีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีวงเงินไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตให้กับลูกหนี้ โดยค่างวดที่ลดลงจะทำให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเหลือสำหรับดำรงชีพเพิ่มเติมระหว่างอยู่ในมาตรการ ขณะที่ดอกเบี้ยที่ได้รับยกเว้นจะช่วยให้ภาระหนี้โดยรวมของลูกหนี้ลดลง
มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” เป็นการช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูง คือไม่เกิน 5 พันบาท โดยลูกหนี้จะต้องเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้บางส่วน ซึ่งมาตรการ “จ่าย ปิด จบ” นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก “หนี้เสีย” เป็น “ปิดจบหนี้” และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น
ซึ่งแหล่งเงินของทั้ง 2 มาตรการมาจาก 1.เงินนำส่งเข้า FIDF ของธนาคารพาณิชย์ (ที่ได้รับการละเว้นจากการปรับลดอัตรานำส่งเงินฯ) จำนวน 3.9 หมื่นล้านบาท และ 2.เงินงบประมาณตาม ม.28 เพื่อชดเชยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6 แห่ง จำนวน 3.89 หมื่นล้านบาท รวมเป็นปีละราว 7.8 หมื่นล้านบาท และตลอด 3 ปีอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินได้เริ่มทยอยเปิดให้ลูกหนี้ที่มีความตั้งใจ เข้ามาลงทะเบียนได้แล้วตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.2567 และจากข้อมูล ณ วันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีลูกหนี้ที่แสดงความประสงค์เข้าร่วม โครงการคุณสู้ เราช่วยและอยู่ระหว่างการตรวจสอบสิทธิ์แล้วกว่า 1.8 แสนราย คิดเป็นจำนวนบัญชีกว่า 3.9 แสนบัญชี ซึ่งลูกหนี้สามารถลงทะเบียนเข้าโครงการได้ยาวจนถึงวันที่ 28 ก.พ.2568
ขณะเดียวกัน ธปท.ยังได้เดินหน้าแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะที่ 2 ต่อทันที สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจ Non-Bank โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบโครงการ เงื่อนไข คุณสมบัติของผู้ที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการ รวมถึงมูลหนี้ ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนไตรมาส 1/2568
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Non-bank และอื่นๆ จะมีความช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างไป เพื่อร่วมกันผลักดันให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้างและครอบคลุมลูกหนี้ได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังวางแผนการดำเนินการในระยะที่ 2 ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยเฉพาะรายที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ตามชนบท โดยเรื่องนี้ พิชัย ระบุว่า จะให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเร่งเข้าไปดูว่าจะช่วยเหลือกลุ่มนี้ได้อย่างไร ส่วนตัวเลขการปล่อยสินเชื่อในใจที่มองว่าน่าจะมีอิมแพกต์กับระบบเศรษฐกิจ น่าจะอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหากเพิ่มเม็ดเงินดังกล่าวเข้าไปได้ก็จะทำให้เกิดการลงทุนอย่างถูกต้องตามมา โดยส่วนนี้ยังมีเม็ดเงินที่ดำเนินการได้ผ่านสภาพคล่องในประเทศ ที่ยังมีเหลืออีก 4-5 ล้านล้านบาท.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พิชัย' ยันชง ครม. เคาะ 'พ.ร.บ.กาสิโน' ปัดมุ่งพนันยกท่องเที่ยวบังหน้า
'พิชัย' ชง พ.ร.บ.กาสิโน เข้าครม. ย้ำไม่ได้มุ่งการพนัน หวังเก็บรายได้จากนักท่องเที่ยว พร้อมกํากับคุมเข้ม รับมี บางหน่วยงานเป็นห่วง