บสย.-หอการค้าไทย ลุยแก้หนี้รถกระบะ ปลดล็อก 2.8 แสนคันจ่อถูกยึด ชูค้ำประกัน 2 หมื่นล.

‘บสย.’ จับมือ ‘หอการค้าไทย’ เดินหน้าช่วยแก้หนี้รถกระบะ สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2.8 แสนคัน มูลหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท พ้นกระบวนการถูกยึด พร้อมชูวงเงินค้ำประกัน 2 หมื่นล้านบาท

10 ม.ค. 2568 – นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังหารือกับนายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ถึงแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาหนี้ในและนอกระบบ เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยดำเนินการควบคู่กับมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่อยู่นอกเงื่อนไขมาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ การหารือมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาหนี้ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ใช้รถกระบะเป็นเครื่องมือทำมาหากิน เช่น การขนส่งสินค้าและธุรกิจค้าขาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในกระบวนการถูกยึดกว่า 284,000 คัน คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 100,000 ล้านบาท หรือ 51.4% ของสินเชื่อรถยนต์ทั้งหมด ให้ลดจำนวนการยึดรถให้น้อยที่สุด โดยการช่วยเหลือในครั้งนี้จำเป็นต้องเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน แทนการกู้เงินนอกระบบ ซึ่งหอการค้าไทยและ บสย. ตั้งเป้าฟื้นฟูกลุ่มผู้ประกอบการนี้ให้กลับมาดำเนินธุรกิจต่อได้ ผ่าน 2 แนวทางสำคัญ ได้แก่

1. การให้ความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับบัญชี การดูงบการเงิน และการเตรียมความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างเข้มแข็ง ซึ่งในระยะแรกมีการวางแผนดำเนินการในลักษณะ Pilot Project ก่อนขยายผลไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดต่อไป และ2. การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและหนี้เรื้อรัง โดยช่วยให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้สามารถกลายเป็นลูกหนี้ที่ดี ดึงลูกหนี้นอกระบบที่ต้องแบกรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงเข้ามาสู่สินเชื่อในระบบ ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.

นอกจากนี้ ในปี 2568 หอการค้าฯ และ บสย. ยังจะได้ขยายผลโครงการ “สนั่นสิทธิ์” ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2566 โดยมีเป้าหมายหลักในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน การเพิ่มช่องทางการตลาด และการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น ซึ่งผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย ได้แก่ การอบรมหลักสูตรธุรกิจในด้านที่กำลังเป็นที่นิยม ส่วนลดและสิทธิพิเศษจากเครือข่ายพันธมิตรของหอการค้า และการเข้าถึงการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย.

“โครงการสนั่นสิทธิ์ มีผลตอบรับที่ดีและประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกได้เป็นอย่างดี และในปี 2568 ทั้งสองหน่วยงานมีเป้าหมายที่จะขยายผลเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอีก 1,000 ราย” นายสนั่น กล่าว

ด้านนายสิทธิกร กล่าวว่า บสย. ให้ความสำคัญกับการแก้หนี้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจึงเปิดตัวมาตรการแก้หนี้ ปี 2568 “บสย. พร้อมช่วย” หรือ มาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว ปรับเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชย หรือ ลูกหนี้ บสย. ลดภาระ-ปลดหนี้ แก้หนี้ยั่งยืน โดยตั้งเป้าปรับโครงสร้างหนี้ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” ตลอดปี 2568 มากกว่า 5,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

“วันนี้ บสย. พร้อมให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีในทุกมิติ ครอบคลุมตั้งแต่การช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ขาดหลักประกัน หรือหลักประกันไม่เพียงพอ ให้เข้าถึงสินเชื่อผ่านกลไกค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ซึ่งเตรียมจัดสรรวงเงินค้ำประกันสินเชื่อภายใต้โครงการ PGS 11 บสย. SMEs ยั่งยืน อีกกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น” นายสิทธิกร ระบุ

นอกจากนี้ ยังให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องกับเอสเอ็มอีที่ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อ ที่เริ่มประสบปัญหาไปต่อไม่ไหว และอยู่ภายใต้มาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ของรัฐบาล สามารถมาเข้ามาขอคำปรึกษาแก้หนี้กับ บสย. ก่อนที่จะเป็นหนี้เสีย สุดท้ายหากธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ โดยเป็นเอสเอ็มอีที่ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชย หรือ ลูกหนี้ บสย. สามารถมาเข้ามาตรการแก้หนี้กับ บสย. ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” บสย. ที่เน้นออกแบบเพื่อรองรับกับความสามารถในการชำระหนี้ 3 ระดับ และสามารถเดินหน้าต่อได้

อย่างไรก็ดี ล่าสุดยังได้เปิดตัว มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ “กลุ่มเปราะบาง” ที่มีเงินต้นไม่เกิน 2 แสนบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ชำระครั้งแรกเพียง 500 บาท ผ่อนสูงสุด 80 เดือน ตัดเงินต้นทั้งจำนวน ค่างวดขั้นต่ำเพียง 500-2,500 บาท และ สามารถปลดหนี้ ลดต้นสูงถึง 30% เมื่อจ่ายต่อเนื่อง 6 งวด ซึ่งถือเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงที่สุดเท่าที่ บสย. เคยทำมา เพื่อช่วยเอสเอ็มอีรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า อาชีพอิสระ ให้สามารถปลดหนี้ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ช่วยต่อลมหายใจและสามารถเดินหน้ากิจการต่อได้อย่างยั่งยืน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง