'แบงก์ชาติ' เคาะจีดีพีปีนี้โต 2.9% จับตานโยบายสหรัฐหวั่นกระทบส่งออก

‘แบงก์ชาติ’ คาดเศรษฐกิจไทยปี 2568 โตที่ 2.9% ชี้อุปสงค์ใน-นอกประเทศยังหนุน ท่องเที่ยวฟื้นตัวรับยังมีความไม่แน่นอนสูง พร้อมจับตานโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ หวั่นกระทบส่งออกครึ่งปีหลัง

6 ม.ค. 2568 – นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2568มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งจากปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความรุนแรงขึ้น รวมถึงนโยบายของประเทศคู่ค้าหลักที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น โดยเฉพาะนโยบายของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งในการประมาณการเศรษฐกิจยังไม่ได้รวมเรื่องนี้ ขณะที่คาดการณ์ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยใน ไตรมาส 4/2567 จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3% ซึ่งมาจากการส่งออกและภาคบริการยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทในปีนี้ มองว่า ยังมีความผันผวน จากนโยบายเศรษฐกิจที่มีความท้าทายและคาดเดาได้ยาก ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงิน หรือ อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนไปด้วย ส่วนนโยบายการเงิน ในระยะข้างหน้า มองว่า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ แต่ยังมีการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน และมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ยังสูงขึ้น โดยเฉพาะครึ่งหลังของปีนี้ ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินจะต้องมีความยืดหยุ่น และสามารถรองรับกับสถานการณ์ที่มีความหลากหลาย และให้ความสำคัญกับการรักษา Policy buffer ในแง่ต่างๆไว้ด้วย รวมถึงพิจารณาผสมผสานเครื่องมือในเชิงนโยบายให้เหมาะสมกับพัฒนาการที่จะเกิดขึ้น

นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 2.9% โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่การท่องเที่ยวคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 39.5 ล้านคน โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับระดับศักยภาพ ซึ่งแรงส่งสำคัญมาจากการส่งออกสินค้า ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7% ด้านการนำเข้าขยายตัวได้ 1.7% การท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังมีปัจจัยบวกจาก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น มาตรการเงินโอนเฟส 2 และ เฟส 3, มาตรการ Easy E-receipt ที่จะต้องติดตามว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ขณะที่ปัจจัยลบต้องติดตาม ความรุนแรงของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

“ครึ่งแรกของปีจะเห็นการเร่งส่งออกสินค้า แต่ในระยะต่อไปจะมีความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่จะทำให้ครึ่งปีหลังแผ่วลง แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ใกล้เคียงระดับศักยภาพ แต่การฟื้นตัวยังมีความแตกต่างกัน โดยกลุ่มที่ฟื้นตัวดี คือ ภาคการท่องเที่ยวและบริการอื่น ๆ ขณะที่กลุ่มที่ฟื้นตัวช้า คือ อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ยังเป็นกลุ่มที่มีพัฒนาการแย่ลง โดยการผลิตยานยนต์ปีที่ผ่านมาลดลง จากวัฏจักรเชิงโครงสร้าง เป็นต้น” นางปราณี กล่าว

ขณะที่ผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทรัมป์ ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อาจเกิดได้ 3 ช่องทาง คือ 1. ช่องทางการค้า ที่ไทยส่งออกไปจีนได้น้อยลง – สินค้าไทยต้องแข่งขันกับจีนมากขึ้น (China flooding) ไทยส่งออกไปสหรัฐแทนจีน 2.ช่องทางการลงทุน อาจมีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมาไทย หรือ อาเซียน แต่ทั้งนี้ อาจเกิดการชะลอการลงทุนได้จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และ 3.ช่องทางความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีน โดยเศรษฐกิจจีนชะลอผลกระทบอาจเกิดกับการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย

นอกจากนี้ มองว่า มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ยังอาจทำให้มีการทะลักของสินค้าจีนเข้ามาไทยมากขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่เดิมช้าอยู่แล้ว

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับขอบล่าง ซึ่งปี 2568 คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.1% ด้านภาวะการเงินโดยรวมสามารถทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยแม้ว่าจะเห็นสินเชื่อชะลอลงเป็นผลจากความต้องการสินเชื่อลดลง ส่วนหนึ่งจากธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพึ่งพาสินเชื่อน้อยลง ความเสี่ยงด้านเครดิตอยู่ในระดับสูง และการชำระคืนนี้ที่กู้ยืมไปในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน โดยไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 89% จากการขยายตัวของหนี้ที่น้อยกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยการก่อหนี้ใหม่ลดลงส่วนหนึ่งจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

เพิ่มเพื่อน