‘สุริยะ’ สั่ง สทร.บูรณาการหน่วยงานเร่งเครื่องอัพเกรดวงการระบบราง ปักธงปี 69 ผลิตรถไฟต้นแบบ ตั้งเป้าบริษัทคนไทย หรือเอกชนต่างชาติเข้ามาร่วมทุนในการตั้งโรงงานผลิตรถไฟ รถไฟฟ้า อุปกรณ์ และอะไหล่ ที่เกี่ยวเนื่องรถไฟ
6 ม.ค. 2568 – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าปัจจุบันมีการเพิ่มโครงข่ายและเส้นทางรถไฟทางคู่ รวมถึงมีโครงการที่ก่อสร้างรถไฟทางคู่ รถไฟสายใหม่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย จึงทำให้มีความต้องการในการจัดหารถจักรและล้อเลื่อนมาวิ่งบนทางคู่ รองรับขบวนรถไฟได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวกับระบบรางก็ขาดบุคลากร ดังนั้น ทางกระทรวงคมนาคมจึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มอัตราการผลิตทั้งคน รถ และอุปกรณ์
ทั้งนี้ เพื่อรองรับแผนแม่บทพัฒนาการเติบโตของระบบขนส่งมวลชนทางราง ทางกระทรวงคมนาคมจึงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) เป็นแกนหลักในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตรถไฟมาตรฐานสากลจากต่างประเทศ โดยทำงานร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายเริ่มต้นภายในปี 2569 ซึ่งจะผลิตรถไฟต้นแบบ 1.หัวรถจักร 2.รถโบกี้โดยสาร 3.รถไฟดีเซลราง และ 4.รถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า ให้เป็นไปตามมาตรฐานยุโรป เพื่อการส่งออกในอนาคต รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ สู่อุตสาหกรรมการผลิตรถไฟ (Supply Chain Conversion)
ขณะเดียวกัน สทร.ยังมุ่งเน้นพัฒนาหลักสูตรพัฒนาบุคลากรระบบราง และการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการจัดฝึกอบรมให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพัฒนากำลังคนระบบราง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางในอนาคตของประเทศต่อไป ซึ่งคาดว่าเรื่องบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาและป้อนเข้าสู่ระบบรางจะเห็นผลสำเร็จได้ภายใน 2 ปีข้างหน้านี้
“ขณะเดียวกันยังร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้า ขบวนรถ อุปกรณ์ อะไหล่รถไฟ รถไฟฟ้า ในยุโรป ในการแลกเปลี่ยนศึกษานวัตกรรมระหว่างกัน โดยมีเป้าหมายว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีบริษัทคนไทย หรือเอกชนต่างชาติเข้ามาร่วมทุนในการตั้งโรงงานผลิตรถไฟ รถไฟฟ้า อุปกรณ์ และอะไหล่ ที่เกี่ยวเนื่องรถไฟ รถไฟฟ้าทุกชนิดในประเทศไทย เพื่อใช้ในประเทศ และส่งออก” นายสุริยะ กล่าว