25 ม.ค. 2565 ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์, นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส และ วิชาญ กุลาตี, นักวิเคราะห์ จาก Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เขียนบทความเรื่องการ ส่งออก ในปี 2021 และแนวโน้มปี 2022 โดยระบุว่า
ส่งออกเดือนธันวาคมยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่อง
การส่งออกเดือนธันวาคมยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 24.2% ท่ามกลางการระบาดของ Omicron โดยขยายตัวในทุกหมวดสินค้าสำคัญและทุกตลาดสำคัญ ขณะที่หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล การส่งออกหักทองคำขยายตัวที่ 4.2% จากเดือนพฤศจิกายน จากการเร่งนำเข้าสินค้าในช่วงปลายปีจากหลายประเทศ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Manufacturing PMI) ยังคงอยู่ในระดับมากกว่า 50 อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตลาดยุโรปเริ่มชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของผลกระทบจากการระบาดและมาตรการปิดเมืองในหลายประเทศที่ยังต้องติดตาม
มูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2021
ในภาพรวมปี 2021 ส่งออกไทยขยายตัวที่ 17.1% โดยมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจการค้าโลก และการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ โดยเฉพาะการขยายตัวในตลาดจีนและอินเดีย และในกลุ่มสินค้าน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก
ส่งออก ไทยในปี 2022 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากหลายปัจจัย
คาดส่งออกไทยในปี 2022 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดย EIC ประเมินส่งออกเติบโตที่ 3.4% ในปี 2022 จากอานิสงส์ของการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่อาจเพิ่มสูงขึ้น และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท กอปรกับประโยชน์จากการเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนมกราคม 2022 ที่ผ่านมา แต่ยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตาจากการระบาดของ Omicron และปัญหาคอขวดอุปทานที่อาจยืดเยื้อ
มูลค่าการส่งออกเดือนธันวาคม 2021 มีมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลที่ 24,930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 24.2%YOY โดยหากหักทองคำ การส่งออกจะขยายตัวที่ 24.1% ในภาพรวมของปี 2021 การส่งออกมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกันที่ 271,174 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขยายตัวได้สูงถึง 17.1% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี และหากหักทองคำจะขยายตัวสูงถึง 22.4%
ด้านการส่งออกรายสินค้าพบว่า การส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ในทุกรายสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะรถยนต์และส่วนประกอบที่ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาก
• รถยนต์และส่วนประกอบขยายตัว 45% เร่งตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 12% และขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน โดยมีตลาดหนุนที่สำคัญ เช่น ฟิลิปปินส์ (190.7%), อินโดนีเซีย (134.8%) รวมถึงออสเตรเลีย (106.7%) เป็นต้น ในขณะที่ญี่ปุ่น (-44.7%) และมาเลเซีย (-11%) เป็นตลาดฉุดที่สำคัญในเดือนนี้ สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 36.2%
• เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ 28.6% ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน โดยมีตลาดหนุนที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ (41.7%), จีน (53.1%), และฮ่องกง (41.2%) เป็นต้น ในขณะที่สิงคโปร์ (-28.5%) และเยอรมนี (-9.9%) เป็นตลาดฉุดที่สำคัญ สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 18%
• เคมีภัณฑ์ขยายตัวที่ 38.9% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยในเดือนนี้ขยายตัวในเกือบทุกตลาดสำคัญ เช่น จีน (19.3%), ญี่ปุ่น (63%) อินเดีย (101.6%) เป็นต้น ยกเว้น กัมพูชา (-7.7%) และเกาหลีใต้ (-50%) สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 45.5%
น้ำมันสำเร็จรูปขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมากที่ 35% ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน ตามความต้องการใช้พลังงานและราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญ เช่น มาเลเซีย (20.6%), สิงคโปร์ (116.90%), เกาหลีใต้ (641.9%) เป็นต้น สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 65.2%
• เม็ดพลาสติกขยายตัว 25.4% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยในเดือนนี้ขยายตัวในทุกตลาดสำคัญ เช่น อินเดีย (14.7%), อินโดนีเซีย (76.7%), เวียดนาม (38.8%) เป็นต้น ยกเว้นจีน (-0.8%) สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 41.1%
• อัญมณีและเครื่องประดับหักทองขยายตัว 29.3% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยในเดือนนี้ขยายตัว
ในทุกสินค้าภายในกลุ่ม เช่น เพชร (38.1%), พลอย (61.1%), อัญมณีสังเคราะห์ (51.6%) เป็นต้น สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 26.5%
• เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ขยายตัว 28.4% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญ เช่น สหรัฐฯ (80.2%), อินโดนีเซีย (88.5%), ไต้หวัน (315.7%) เป็นต้น สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 40.1%
ด้านการ ส่งออก รายตลาด พบว่ายังขยายตัวได้ในทุกตลาดสำคัญ
• การส่งออกไปออสเตรเลียขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมากที่ 54.9% โดยขยายตัวได้ในทุกเกือบสินค้าสำคัญ เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ (106.7%), อัญมณีและเครื่องประดับ (46.8%) และเม็ดพลาสติก (55.7%) เป็นต้น อย่างไรก็ดี การส่งออกเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (-4.4%) และตู้เย็น (-15.3%) หดตัว สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 10.9%
• การส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัว 36.5% ซึ่งเป็นการขยายตัว 19 เดือนต่อเนื่อง โดยขยายตัวได้ในทุกสินค้าหลัก เช่น คอมพิวเตอร์ (41.7%), เครื่องปรับอากาศ (93.1%) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (80.2%) เป็นต้น สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 21.5%
• การส่งออกไปอาเซียน 5 ขยายตัว 35% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญ รถยนต์และส่วนประกอบ (78.2%), น้ำมันสำเร็จรูป (69.5%), เม็ดพลาสติก (48%) และแผงวงจรไฟฟ้า (16.6%YOY) สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 19.4%
• การส่งออกไปฮ่องกงขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมากที่ 23.5%YOY โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ (41.2%), และอัญมณีและเครื่องประดับ (16%) สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 2.6%
• การส่งออกไปญี่ปุ่นขยายตัว 1% หลังจากที่ทรงตัวในเดือนก่อนหน้า โดยมีไก่แปรรูป (16.3%), เคมีภัณฑ์ (63%), คอมพิวเตอร์ (11.2%) และเม็ดพลาสติก (36.3%) เป็นปัจจัยหนุนสำคัญ แต่มีรถยนต์และส่วนประกอบ (-44.7%), เครื่องจักรกล (-11.6%), โทรศัพท์ (-37.1%) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (-6.8%) เป็นปัจจัยฉุดสำคัญ สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 9.5%
ด้านมูลค่านำเข้าในเดือนธันวาคม 2021 ขยายตัว 33.4% เร่งตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 20.5% โดยเป็นการขยายตัวในทุกหมวดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง (118.3%) ที่ขยายตัวตามราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน, สินค้าทุน (4.5%), สินค้าอุปโภคบริโภค (13.3%) และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (1.6%)
ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวเช่นกันที่ 38.9% และหากหักทองคำจะขยายตัวที่ 29.3% ทั้งนี้ในภาพรวมของปี 2021 การนำเข้าขยายตัวที่ 29.8% ในส่วนของดุลการค้าเดือนธันวาคมขาดดุล -354.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากรวมทั้งปี 2021 จะเกินดุลที่ 3,573 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออกในเดือนธันวาคม ยังขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 24.7% และเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกหักทองคำและปรับฤดูกาลขยายตัว 4.2% จากเดือนพฤศจิกายน (MOM, SA) (รูปที่ 3 ซ้าย) โดยมีมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขยายตัวในทุกหมวดสินค้าสำคัญและในทุกตลาดสำคัญจากการเร่งนำเข้าสินค้าในช่วงท้ายปี
จากหลายประเทศ โดยเฉพาะส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาที่ขยายตัวถึง 36.5% และออสเตรเลียที่ 54.9% ที่มีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของส่งออกรายสินค้า รถยนต์และส่วนประกอบ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนของราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง
ในภาพรวมของปี 2021 การส่งออกของไทยเติบโตได้ถึง 17.1% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี (ตัวเลขในระบบศุลกากร) โดยแม้ว่าในบางช่วงจะได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานเพื่อควบคุมการระบาดทั้งในประเทศไทยเองและประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน รวมถึงปัญหาคอขวดอุปทานที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งทั้งจากอานิสงส์ของปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้า ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาด
ของ COVID-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคจะพบว่า การส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ในอัตราที่ต่ำกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี
แต่เร่งตัวขึ้นมาเกาะกลุ่มได้ในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการขยายตัวของการส่งออกของไทยในช่วงท้ายปี 2021 ไปยังตลาดยุโรป จะเริ่มเห็นถึงสัญญาณชะลอตัวลง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการระบาด ของ Omicron ในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปที่บางประเทศได้เริ่มนำเอามาตรการปิดเมืองกลับมาใช้อีกครั้งโดยยังคงต้องจับตาถึงผลกระทบของ Omicron ในระยะต่อไป
ในปี 2022 EIC ประเมินส่งออกเติบโตต่อเนื่องที่ 3.4% (ตัวเลขในระบบดุลการชำระเงิน) โดยคาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2022 จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัว ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่อาจเพิ่มสูงขึ้น และแนวโน้มการอ่อนค่า ของเงินบาท นอกจากนี้ ยังได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
ซึ่งถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนมกราคม 2022 ที่ผ่านมา โดยจากการคาดการณ์ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) การเข้าร่วม RCEP จะทำให้ไทยเข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่การผลิตได้มากขึ้นผ่านการลดภาษีนำเข้าสินค้าและการลดมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในเวทีการค้าโลก ทำให้การส่งออกของไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 4.9% ภายในปี 2030
อย่างไรก็ตามการส่งออกไทยในปี 2022 ยังต้องเผชิญกับหลากหลายปัจจัยกดดันและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ได้แก่ ปัญหาคอขวดอุปทานที่อาจยาวนานขึ้นจากการระบาดของ Omicron ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำให้อัตราค่าระวางเรือและระยะเวลาในการขนส่งสินค้าอยู่ในระดับสูง ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) อัตราเงินเฟ้อโลกที่อาจปรับเพิ่มขึ้น หรือยืดเยื้อกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากผลกระทบของนโยบายการจัดการด้านพลังงานรวมถึงปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์
บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC …https://www.scbeic.com/th/detail/product/8057
อ่านเพิ่มเติม