พาณิชย์เผยดัชนีค่าขนส่งสินค้าทางถนน Q4 ขยับขึ้น

ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 4 และเฉลี่ยทั้งปี 2567 ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยขณะที่อุทกภัยกระทบต่อธุรกิจการขนส่งสินค้าทางถนนไม่มาก

2 ม.ค. 2568  – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 4 และเฉลี่ยทั้งปี 2567 ปรับสูงขึ้นเล็กน้อย  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เผชิญปัญหาเรื่องต้นทุนการขนส่งสูง แต่เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่สูงเช่นกัน การปรับค่าบริการจึงเป็นไปอย่างจำกัด และยังพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามกิจกรรมการผลิต ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 2.7 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 เป็นการสูงขึ้นของค่าบริการขนส่งในทุกหมวดสินค้าโดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.1 (ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม สิ่งทอ อุปกรณ์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์) หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ร้อยละ 0.9 (ถ่านหินและลิกไนต์ ปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ) และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ร้อยละ 0.6 (กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร) ส่วนเฉลี่ยทั้งปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 1.5 (YoY)

ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามประเภทรถ ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (YOY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 เป็นการสูงขึ้นเกือบทุกประเภทรถที่ใช้บริการขนส่งสินค้า อาทิ รถบรรทุกวัสดุอันตราย ร้อยละ 3.8 รถตู้บรรทุก ร้อยละ 2.8 รถบรรทุกเฉพาะกิจและรถบรรทุกของเหลว สูงขึ้นเท่ากันที่ร้อยละ 2.2 รถกระบะบรรทุก ร้อยละ 1.9 และรถพ่วง ร้อยละ 0.7 ขณะที่ค่าบริการขนส่งรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนเฉลี่ยทั้งปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.5 (YoY)

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 4 ปี 2567 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4ปี 2566 ปรับสูงขึ้น ยังคงเป็นเรื่องของต้นทุน โดยราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศอยู่ระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับอัตราค่าจ้างและอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูง นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวการส่งออก และการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการขนส่งสินค้ามีมากขึ้น ค่าบริการขนส่งสินค้าจึงปรับเพิ่มขึ้น 

สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนน เกี่ยวกับผลกระทบจากอุทกภัยต่อค่าบริการขนส่งทางถนนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เผชิญปัญหา เรื่องต้นทุนการขนส่งสูง แต่เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่สูงเช่นกัน จึงปรับค่าบริการขนส่งสินค้าได้ไม่มากนักและยังพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 85.58 ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย มีเพียงร้อยละ 14.42 เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา (กลางเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567) สำหรับผลกระทบที่ได้รับ ได้แก่ เส้นทางขนส่งประจำเสียหาย และทรัพย์สินบริษัทเสียหาย ส่วนความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ อาทิ ลดหรือสนับสนุนราคาน้ำมัน ตามด้วยต้องการเงินช่วยเหลือ และให้เร่งปรับปรุงเส้นทางการขนส่ง

แนวโน้มดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออกสินค้า ประกอบกับต้นทุนสำคัญ อาทิ ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศที่สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปี 2567 และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ระดับสูง นอกจากนี้ การขาดแคลนแรงงาน และอัตราค่าจ้าง ตามมาตรฐานฝีมือ (พนักงานขับรถบรรทุก) อาจจะปรับขึ้นตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนในประเทศปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านราคาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการของภาครัฐ และความเสี่ยงจากการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ของเศรษฐกิจโลก รวมถึง การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อาจจะส่งผลให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 ไม่เป็นไปตามที่คาดได้

นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2568 ผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย รวมถึงธุรกิจให้บริการการขนส่งสินค้าในประเทศ อาจจะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งเรื่อง ภาระหนี้สินของครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง การขยายตัวต่ำกว่าที่คาดของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนในการดำเนินมาตรการ        

ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย รวมถึงภาคการขนส่งสินค้าทางถนนในประเทศ ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้ตอบโจทย์กับความต้องการ ของผู้ใช้บริการในยุคดิจิทัลให้มากขึ้น โดยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบการให้บริการ เพิ่มศักยภาพบุคลากร และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความเชื่อมโยงระหว่างผู้ส่งมอบและผู้ใช้บริการให้มากยิ่งขึ้น  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“พาณิชย์” รับลูก นายกฯ “ดูแลประชาชน” ลุยตรวจ ”ปั๊มน้ำมัน -ขนส่ง-สนามบิน“ ย้ำ ขอให้ประชาชนมั่นใจ เดินทางราบรื่นช่วงปีใหม่

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบเข้มสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ ครอบคลุมทุกการเดินทางของประชาชน ทั้งการตรวจสอบมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ให้ได้น้ำมันเต็มลิตร-เน้นย้ำผู้ประกอบการตามสถานีขนส่งปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน-

“สุชาติ” รมช. พาณิชย์ ยืนยันไม่ได้หายไปไหน เดินหน้าผลักดันส่งออก ชี้ ต้องการทำให้ FTA มีประโยชน์สูงสุด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า “ตนได้ทำงานในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์อย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมาได้เดินหน้าทำงานต่อเนื่อง สร้างผลงานดันเจรจา FTA

“พิชัย” คิกออฟ New Year Mega Sale 2025 ลดราคาสินค้า-บริการ 4 หมื่นรายการ สูงสุด 80% เป็นของขวัญปีใหม่

“พิชัย” คิกออฟโครงการ “พาณิชย์ลดราคา New Year Mega Sale 2025” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทยทั้งประเทศ ผนึกกำลังผู้ผลิต

พาณิชย์คลอดมาตรการ ‘อนุญาตให้นำเข้า' ก่อน ‘ห้ามนำเข้า’ เศษพลาสติก

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศออกกฎกำหนดมาตรการนำเข้าเศษพลาสติก 2 ฉบับ เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมและป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน โดยเป็นการดำเนินการตามนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566

'พิชัย' ชวนสมาชิกหอการค้าอเมริกันลงทุนไทยเพิ่ม

“พิชัย” ชวนสมาชิกหอการค้าอเมริกัน AMCHAM ลงทุนไทยเพิ่ม เร่งใช้แต้มต่อ FTA ไทย ผลักดัน ศก. ไทยเติบโตรวดเร็ว หลังเตรียมเยือนดาวอส ประกาศความสำเร็จ FTA ไทย-เอฟตา ฉบับแรกกับยุโรป