'คนละครึ่ง' เฟส 4 ปรับลดวงเงิน 'คลัง'อ้างเศรษฐกิจฟื้น

ครม. สั่งเดินเครื่อง คนละครึ่ง เฟส 4 อัดฉีดวันละ 150 บาทเหมือนเดิม แต่ลดวงเงินรวมเหลือ 1.2 พันบาท จากเดิม 1.5 พันบาท อ้างเศรษฐกิจเริ่มฟื้น หวังช่วยกระทุ้งจีดีพีปีนี้โตเพิ่ม 0.21%

24 ม.ค. 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2565 มีมติรับทราบและอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 จำนวนไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-30 เม.ย. 2565 รวมทั้งสิ้น 600 บาทต่อคน สำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.45 ล้านคน วงเงินรวม 8,071 ล้านบาท

2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 (กลุ่มที่ได้รับสิทธิตามโครงการเราชนะ กลุ่ม 4 หรือกลุ่มเปราะบาง) จำนวน 2.25 ล้านคน ไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ก.พ. -30 เม.ย. 2565 รวมทั้งสิ้น 600 บาทต่อคน วงเงินรวม 1,352 ล้านบาท

3. โครงการ คนละครึ่ง ระยะที่ 4 สนับสนุนวงเงินค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป และบริการนวดสปา ทำผม ทำเล็บ และบริการขนส่งสาธารณะ ยกเว้นสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และสินค้าหรือบริการ ที่กระทรวงการคลังกำหนด จากภาครัฐในอัตรา 50% ทั้งนี้ ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 1,200 บาท ต่อคน วงเงินดำเนินการ 3.4 หมื่นล้านบาท ตลอดระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ 1 ก.พ. – 30 เม.ย. 2565 ให้กับประชาชนผู้ได้รับสิทธิที่เข้าร่วมโครงการจำนวนไม่เกิน 29 ล้านคน ซึ่งการร่วมจ่าย คนละครึ่ง นี้จะเป็นการช่วยเติมกำลังซื้อให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ ประชาชนผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 (คนเดิม) 27.98 ล้านคน จะต้องยืนยันสิทธิ์เพื่อเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป โดยจะต้องเริ่มใช้สิทธิ์โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ภายในวันที่ 28 ก.พ. 2565 เวลา 22.59 น. หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจะถูกตัดสิทธิ์ โดยสิทธิที่เหลืออาจจะนำมาพิจารณาเปิดให้ลงทะเบียนอีกครั้ง ซึ่งหากยังประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องลงทะเบียนเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป หากยืนยันสิทธิ์และใช้สิทธิ์โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ครั้งแรกในระยะที่กำหนดสามารถใช้สิทธิ์ดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2565

สำหรับประชาชนทั่วไปที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่10 ก.พ. 2565 จนกว่าจะครบจำนวนประมาณ 1 ล้านสิทธิ์ โดยสามารถใช้สิทธิ์โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ. ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2565 ซึ่งช่องทางการลงทะเบียนแบ่งเป็น 2 กรณี 1.กรณีเป็นประชาชนที่เคยได้รับสิทธิ์มาตรการ/โครงการอื่นของรัฐที่มีการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง หรือผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com 2.กรณีประชาชนที่ไม่มีแอปพลิเคชันเป๋าตัง สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com

คุณสมบัติ

โดยคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ ประชาชนที่มีสัญชาติไทย มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีบัตรประจำตัวประชาชน ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามฐานข้อมูลกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 25 ม.ค. 2565 หรือไม่เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 ทั้งนี้ ก่อนการใช้สิทธิครั้งแรก ผู้ได้รับสิทธิตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 จะต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนที่สาขาหรือตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย ยกเว้นผู้ที่เคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารกรุงไทย หรือผู้ที่มีแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ซึ่งผ่านการยืนยันตัวตนกับธนาคารกรุงไทยแล้ว

ขณะที่ผู้ประกอบการร้านค้าสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป เวลา 06.00 – 22.00 น. จนกว่ากระทรวงการคลังจะประกาศปิดรับสมัครผ่าน www.คนละครึ่ง.com โดยผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมมาตรการ/ โครงการอื่นของรัฐที่มีแอปพลิเคชันถุงเงินแล้ว ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน ส่วนผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการ/โครงการอื่นสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือสาขาหรือจุดรับลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทย

“สำหรับวงเงินใช้จ่ายรวมที่ลดลงเหลือ 1,200 บาท จากเดิม 1,500 บาทนั้น เนื่องจากมีการพิจารณาถึงดัชนีทางเศรษฐกิจที่ส่วนใหญ่มีการฟื้นตัวเป็นลำดับ กิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการบริโภค ออกมาใช้จ่ายกันมากขึ้น สะท้อนว่าเศรษฐกิจค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ดัชนีราคาสินค้าบริโภคมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหาร และพลังงาน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือผ่านมาตรการคนละครึ่งเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยรัฐบาลคงไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดของประชาชนได้ แต่คนละครึ่งถือเป็นเรื่องของการแบ่งเบาภาระในช่วงนี้เท่านั้น ขณะเดียวกันโครงการในเฟส 3 มีประชาชนราว 1.6 ล้านคนที่ไม่ได้มีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ในโครงการเลย” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า การดำเนินการทั้ง 3 โครงการ จะช่วยรักษากำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ จากการเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2565 จำนวน 79,023 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้จีดีพีทั้งปี 2565 เพิ่มขึ้น 0.21% ต่อปี จากกรณีฐาน โดยในปีนี้คาดการณ์จีดีพีจะขยายตัวในช่วง 3.5-4.5% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 4% อีกทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่พี่น้องประชาชน เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งรักษาระดับและทิศทางของการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจเพื่อให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์โควิด-19

อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังมีวงเงินตาม พ.ร.ก. กู้เงินโควิดเพิ่มเติม อีกประมาณ 1 แสนล้านบาท จากทั้งหมด 5 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องใช้เงินอย่างประหยัด เนื่องจากยังมีโครงการอีกจำนวนมากที่ยังรอดำเนินการอยู่


ครม.อนุมัติโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 วงเงิน 8 พันล้าน เริ่ม 1 ก.พ.นี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รทสช.จ่ออภิปรายงบปี 2568 แนะรัฐบาลต่อยอดโครงการลุงตู่!

รทสช. นัดประชุม สส. สัปดาห์หน้า เตรียมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบ 2568-ประชามติ เน้นชี้แนะรัฐบาล จัดงบกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตพร้อมสะท้อนความต้องการประชาชน

'นิพิฏฐ์' ชำแหละ 'ดิจิทัล วอลเล็ต' กับ 'ยาเสพติด' มีคนจำนวนหนึ่งไม่นำไปซื้อข้าวสาร สบู่ ยาสีฟัน แน่

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ ดิจิทัล วอลเลต กับ ยาเสพติด มีรายละเอียดดังนี้