‘ครม.’ เคาะแล้วกรอบเงินเฟ้อปี 68 ที่ระดับเดิม 1-3% ปักธงค่ากลาง 2% กระทุ้งคลัง-แบงก์ชาติเร่งหามาตรการช่วยประคองเศรษฐกิจ กำชับดูแลอัตราแลกเปลี่ยนหวังช่วยหนุนขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย พร้อมเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง หั่นงบขาดดุลปีงบ 69 ลง 1 หมื่นล้านบาท
24 ธ.ค. 2567 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2567 มีมติเห็นชอบกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ปี 2568 ที่ระดับ 1-3% ซึ่งเป็นระดับเดิม แต่ได้มีการเพิ่มรายละเอียดในการดำเนินงาน ระหว่างกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องร่วมมือประคับประคองเศรษฐกิจ เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อมุ่งสู่ค่ากลางที่ระดับ 2% ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์สำคัญ โดยให้ดำเนินการผ่านกลไกที่แต่ละหน่วยมีอยู่แล้ว
“นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ได้ฝาก ธปท. ให้พิจารณาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้มีความเหมาะสม สำหรับช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ แต่ตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ ไม่ได้มีการพูดหรือกำหนดชัดเจน” นายจุลพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง 4 (ปี 2569-2572) โดยรัฐบาลวางเป้าหมายในการลดการขาดดุลงบประมาณอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ รวมถึงให้กระทรวงการคลังเร่งหารือกับหน่วยรับงบประมาณ ในการปรับแผนงานให้มีความเหมาะสม ประหยัดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขณะที่รัฐวสิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ให้หาแหล่งเงินอื่น ๆ ในการดำเนินโครงการ ไม่ใช่พึ่งพาแต่งบประมาณเพียงอย่างเดียว
สำหรับตัวเลขการขาดดุลงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2569 จะลดลงจากปีงบประมาณก่อนหน้าราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดีขึ้น แต่รัฐบาลไม่อยากให้ดูแค่ปีเดียว เพราะได้พยายามปรับกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประสิทะิภาพมากที่สุด ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ การลดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นไขมันออกไป รวมถึงสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยมองว่าหากสามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 3% จะเป็นสัญญาณที่ดีอย่างต่อเนื่อง
“นายกรัฐมนตรีให้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อให้ดีขึ้น กระชับ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งเรื่องการจัดเก็บรายได้ และการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งในส่วนของคลังที่ผ่านมาได้หารือร่วมกับกรมภาษีโดยตลอดอยู่แล้ว และหลัก ๆ เราจะมุ่งเป้าหมายไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีเป็นหลัก โดยอาจจะมีการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ ๆ ที่ไม่กระทบกับประชาชนในวงกว้าง และสามารถสร้างรายได้ให้รัฐ” นายจุลพันธ์ กล่าว