ช่วงนี้แฟนคอลัมน์ถามผมบ่อยว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเป็นอย่างไร จะดีหรือแย่กว่าปีนี้ วันนี้จึงขอเขียนเรื่องนี้ โดยเก็บประเด็นจากเอกสารสำคัญและน่าอ่านสองฉบับ ฉบับแรกคือรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2568 หรือ World Economic Outlook 2025 เผยแพร่โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ เมื่อเดือนตุลาคม ฉบับที่สอง คือ เศรษฐกิจไทย 2024 เป็นรายงานที่มาจากการหารือประจําปีของสํานักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียนบวกสาม หรือ AMRO กับเจ้าหน้าที่ทางการไทย เจาะลึกแนวโน้มเศรษฐกิจและประเด็นนโยบาย เอกสารทั้งสองฉบับเป็นรายงานที่ตลาดการเงินให้ความสำคัญและเราเองก็ควรรับรู้ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
23 ธ.ค. 2567 – เริ่มจากเศรษฐกิจโลก ความเห็นไอเอ็มเอฟเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกปีหน้าสรุปได้ สี่ประเด็น
หนึ่ง เศรษฐกิจโลกขณะนี้มีเสถียรภาพแต่การเติบโตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ขยายตัวร้อยละ 3.4 ปีนี้ และร้อยละ 3.5 ปีหน้า ตัวเลขการเติบโตแม้จะไม่ต่างจากที่ประเมินไว้เมื่อเดือนเมษายน แต่รายละเอียดเปลี่ยนไปพอควร คือเศรษฐกิจสหรัฐเข้มแข็งมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจประเทศรายได้สูงอื่น ๆ โดยเฉพาะในยุโรปอ่อนแอลง เช่นเดียวกัน ประเทศตลาดเกิดใหม่ในตะวันออกกลาง เอเซียกลาง และอัฟริกา การขยายตัวลดลงจากดิสรัปชั่นที่กระทบการผลิต การขนส่งพลังงาน และผลจากความขัดแย้งทางการเมือง และภาวะอากาศสุดโต่ง แต่ก็ได้การขยายตัวของประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเซียเข้ามาทดแทน จากความต้องการสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโต ขับเคลื่อนโดยการลงทุนด้านเอไอ สำหรับระยะยาวการเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังครึ่ง ๆ กลาง ๆ ที่ร้อยละ 3 ต่อปี กดทับโดยปัจจัยโครงสร้าง ทั้งสังคมสูงวัยและผลิตภาพการผลิตที่ตํ่า
สอง ไอเอ็มเอฟมองว่าความไม่สมดุลที่โยงกับวัฐจักรเศรษฐกิจที่เคยทําให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น บัดนี้ผ่อนคลายลง ทําให้การผลิตและศักยภาพการผลิตอยู่ในระนาบเดียวกันมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อลดลง และความแตกต่างระหว่างอัตราเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ ก็ลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อโลกจะลดจากเฉลี่ยร้อยละ 6.7 ปีที่แล้วเหลือร้อยละ 5.8 ปีนี้ และร้อยละ 4.3 ปีหน้า และปีหน้าอัตราเงินเฟ้อจะลดสู่เป้าทางนโยบายของประเทศรายได้สูง ตามด้วยประเทศตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม การปรับลดของอัตราเงินเฟ้อจะไม่ราบลื่นเพราะอาจมีแรงกดดันขาขึ้นเป็นช่วง ๆ จากอัตราเงินเฟ้อภาคบริการในบางประเทศที่ยังสูง ทําให้นโยบายการเงินยังควรต้องระมัดระวัง
สาม ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกเป็นด้านลบเพราะความไม่แน่นอนด้านนโยบาย เช่น ความผันผวนในตลาดการเงินโลกอย่างที่เกิดขึ้นเดือนสิงหาคมที่แล้ว ที่ทำให้ภาวะการเงินโลกตึงตัวส่งผลต่อการลงทุนและเศรษฐกิจ รวมถึงมีเงินทุนไหลออกจากประเทศกําลังพัฒนา มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้ออาจกลับมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าขั้นปฐมและความตึงเครียดในภูมิรัฐศาสตร์ ทําให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอาจต้องล่าช้า กระทบฐานะการคลังและเสถียรภาพทางการเงิน นอกจากนี้ ปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนก็อาจมีมากและลึกกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการค้าโลก รวมถึงนโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจรุนแรงมากขึ้น
สี่ เมื่ออัตราเงินเฟ้อลดลง นโยบายควรมุ่งให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ โดยในหลายประเทศนโยบายการคลังควรหันมาให้ความสําคัญกับสถานะของหนี้สาธารณะและความยั่งยืนของฐานะการคลัง และให้ความสําคัญกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับความสามารถในการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงดูแลช่วยเหลือกลุ่มคนที่เปราะบางในสังคม ในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ความสําเร็จของการปฏิรูปจะอยู่ที่ยุทธศาสตร์ที่จะสร้างความเข้าใจให้ผู้ถูกกระทบเห็นถึงความสําคัญของการปฏิรูป และประโยชน์ที่เศรษฐกิจจะได้เพื่อให้การปฏิรูปได้รับการสนับสนุน ในระดับสากล ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการค้าโลกตามกติกาแบบพหุภาคี เป็นสิ่งจำเป็นที่จะลดความแตกแยกทางเศรษฐกิจและให้ทุกประเทศได้ประโยชน์จากการเติบโต
นี่คือความเห็นของไอเอ็มเอฟเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก ชัดเจนว่าไอเอ็มเอฟมองเศรษฐกิจโลกว่าการเติบโตมีข้อจํากัด และข้อจํากัดส่วนใหญ่มาจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายที่โยงกับการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์
สำหรับเศรษฐกิจไทย ความเห็นของ AMRO ก็ออกมาในแนวคล้ายกัน การเติบโตของเศรษฐกิจแม้มีเสถียรภาพแต่ก็ขยายตัวตํ่ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งข้อจํากัดหลักมาจากนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่เอื้อให้เศรษฐกิจปรับตัวและไม่ให้ความสําคัญกับการปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะยกระดับผลิตภาพ ความสามารถในการแข่งขัน และการขยายตัวของเศรษฐกิจ สรุปได้เป็นสี่ประเด็น
หนึ่ง เศรษฐกิจไทยปีที่แล้วขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะการส่งออกอ่อนแอและการเบิกจ่ายจากงบประมาณล่าช้า สําหรับปีนี้อัตราการขยายตัวควรปรับเพิ่มได้เป็นร้อยละ 2.8 และร้อยละ 2.9 ในปีหน้า กระตุ้นโดยมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ เช่น กระเป๋าเงินดิจิตอล และการฟื้นตัวต่อเนื่องของธุรกิจท่องเที่ยวที่จํานวนนักท่องเที่ยวน่าจะเกินระดับก่อนโควิดได้ในปีหน้า ส่วนตลาดแรงงาน การจ้างงานทรงตัว อัตราค่าจ้างเพิ่มในเกณฑ์ตํ่าคือร้อยละ 0.1 สะท้อนความอ่อนแอในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนอกภาคท่องเที่ยว ขณะที่ค่าจ้างในภาคท่องเที่ยวเพิ่มร้อยละ 5
สอง อัตราเงินเฟ้อในประเทศยังอ่อนแรง สะท้อนอุปทานส่วนเกินที่มีในระบบเศรษฐกิจ และการอุดหนุนราคาพลังงานของรัฐบาล ปีนี้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 0.4 แต่จะเพิ่มเข้าใกล้เป้าของธนาคารแห่งประเทศไทยในปีหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มเป็นร้อยละ 1.5 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้นและการยกเลิกการอุดหนุนราคานํ้ามันของรัฐบาล ด้านเสถียรภาพต่างประเทศ การท่องเที่ยวและการส่งออกที่ฟื้นตัวจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลปีนี้และปีหน้า เสริมให้ฐานะเงินทุนสํารองทางการของประเทศอยู่ในระดับที่เข้มแข็งต่อไป
สาม การใช้จ่ายที่มากขึ้นของรัฐบาลจะทําให้ฐานะการคลังของประเทศขาดดุลมากขึ้นตามไปด้วย จากร้อยละ 4.5 ของจีดีพีในปีงบประมาณ 2024 เป็นร้อยละ 4.6 ในปีงบประมาณ 2025 อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยจะเข้าใกล้เพดานหนี้ที่ร้อยละ 70 ของจีดีพีในปีงบประมาณ 2027 สําหรับภาวะการเงินจะตึงตัวตามสินเชื่อที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง สะท้อนความเหลื่อมลํ้าในการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่มคนต่าง ๆ คือสินเชื่อยังขยายตัวดีสำหรับธุรกิจทั่วไปและผู้บริโภค แต่อาจหดตัวมากขึ้นสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งจะกระทบคุณภาพของสินทรัพย์และเพิ่มปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อย่างไรก็ตาม ฐานะของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมั่นคง พิจารณาจาก เงินกองทุน สภาพคล่อง และระดับการกันสำรองของธนาคารพานิชย์
สี่ ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยเป็นด้านลบ ไม่ว่าการส่งออก ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุนของภาคเอกชนที่อ่อนแอ และระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง และสำหรับระยะยาว ความเสี่ยงสำคัญคือความยั่งยืนของฐานะการคลังและการลดลงต่อเนื่องของศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ทําให้นโยบายเศรษฐกิจระยะสั้นควรต้องเน้นการสร้างพื้นที่ให้กับนโยบายการคลังด้วยการลดการใช้จ่ายเพื่อลดหนี้สาธารณะ สำหรับระยะยาว นโยบายสำคัญคือการปฏิรูปและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน ด้วยนโยบายที่มุ่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา คุณภาพของทุนมนุษย์ การใช้ประโยชน์ดิจิตอลเทคโนโลยี่ และนวัตกรรม
นี่คือมุมมองของ AMRO เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งก็มีความเห็นเหมือนกับหลายฝ่ายว่า ระยะใกล้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะดีขึ้นๆเพราะการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่จะมาพร้อมกับการสร้างหนี้สาธารณะให้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แต่สำหรับระยะยาว เศรษฐกิจไทยจะไม่ไปไหนถ้าไม่มีการปฏิรูปและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
เขียนให้คิด
ดร บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน