ข่าวดี!! 'คลัง' จ่อชง ครม. ปลุก Easy E-receipt คัมแบ็ก

ข่าวดี! ‘คลัง’ จ่อชง ครม. ปลุก Easy E-receipt หวังกระตุ้นใช้จ่าย เปิดช่องช็อปเต็มสูบ 50,000 บาท พร้อมเข็นพิจารณากรอบเงินเฟ้อปี 68 เคาะ 1-3% ยื่นคำขาดค่ากลาง 2% ชี้เป็นผลดีกับเศรษฐกิจ

19 ธ.ค. 2567 – นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม) ในสัปดาห์หน้า (24 ธ.ค.) พิจารณามาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย Easy E-receipt ในการซื้อสินค้าและบริการเพื่อใช้ลดหย่อนภาษี โดยเบื้องต้นคาดว่าเงื่อนไขจะเหมือนที่ผ่านมา โดยจะให้สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท แบ่งเป็น รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 30,000 บาท และรูปแบบกระดาษอีก 20,000 บาท ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มใช้ได้ภายในเดือน ม.ค. 2568

นอกจากนี้ จะเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2568 ที่ 1-3% โดยภายหลังจากที่ได้หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว จะมีการกำหนดตัวเลขการดำเนินงานกึ่งกลางไว้ที่ระดับ 2% ซึ่งจะต้องเป็นระดับที่ต่อเนื่อง รวมถึงได้มีการกำหนดว่าจะต้องมีการดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ให้ประเทศสามารถแข่งขันได้เข้าไปในกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายด้วย

“วันนี้ได้ตกลงข้อความดัวกล่าวกับ ธปท. แล้ว โดยสิ่งที่รัฐบาลอยากเห็นไม่ว่าจะมาตรการใดก็ตาม จะเป็นเรื่องดอกเบี้ย หรืออื่น ๆ ก็อยากเห็นว่าจะสามารถทำให้อัตราเงินเฟ้อขยับตัวขึ้นได้บ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้วอยากเห็นอยู่ในค่ากึ่งกลางแถว ๆ 2% เป็นอย่างน้อย เพราะตามธรรมชาติหากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม มันจะส่งผลดีกับเศรษฐกิจมากกว่า“ นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เรื่องค่าเงินนั้น อยากให้มีการพิจารณากันยาว ๆ มากกว่า ไม่ใช่ดูแค่ระยะ 3 เดือน โดยต้องมาดูวิวัฒนาการ ดูว่าจะใช้มาตรการอะไร ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว รัฐบาลก็อยากเห็นค่าเงินอ่อนได้มากกว่านี้ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้” นายพิชัย กล่าว

ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น นายพิชัย ระบุว่า ยังยืนยันคำเดิมว่า เรื่องนี้ให้เป็นไปตามการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งส่วนตัวมองว่าหากเศรษฐกิจดี อัตราดอกเบี้ยจะต้องเป็นอัตราที่ไม่ผูกกับนโยบายมากเกินไป และต้องพิจารณาเรื่องการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเพื่อไปกระตุ้นไปที่รายย่อยมากกว่ารายใหญ่

ทั้งนี้ ในส่วนของการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศนั้น ต้องยอมรับว่าเรามาถึงจุดที่ช่องว่างของมาตรการด้านการคลังแคบลง เม็ดเงินที่ใช้ก็แคบลง ดังนั้นนโยบายการด้านเงินอาจจะต้อเข้ามาพิจารณามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว เพราะนั่นแปลว่าคนพร้อมจะลงทุนมากขึ้น ดังนั้น ธปท. ก็อาจจะต้องมาพิจารณาเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วย

“ตามธรรมชาติเราสามารถทำให้พื้นที่ด้านการคลังกว้างขึ้นได้ ด้วยการลดการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายประจำ และอีกวิธีคือเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น เติบโตได้ใกล้เคียง 3.5% และเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ก็จะทำให้ Nominal GDP อยู่ในระดับที่ใช้ได้ และจะส่งผลให้พื้นที่ทางการคลังใหญ่ขึ้นตามขนาดของเศรษฐกิจ” นายพิชัย กล่าว

สำหรับข้อเสนอของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เสนอให้มีการศึกษาการใช้บิทคอยน์ภายใต้โครงการแซนด์บ็อกซ์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อให้คนถือสินทรัพย์ดิจิทัลใช้จ่ายภายในพื้นที่ที่จำกัดนั้น นายพิชัย กล่าวว่า ถือเป็นการเพิ่มช่องทางในการใช้จ่ายเงินในอีกรูปแบบหนึ่ง และจะเป็นกลไกที่ช่วยทำให้คนที่ถือสินทรัพย์ดิจิทัลตัดสินใจใช้จ่ายได้ง่ายขึ้นกวาการใช้เงินสด ในพื้นที่ที่จำกัดไว้ ส่วนจะนำบิทคอยน์มาเพิ่มในทุนสำรองระหว่างประเทศหรือไม่นั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ ธปท. จะต้องพิจารณา หากเห็นว่าจำเป็นก็อาจะต้องเสนอไปตามกฎระเบียบ เช่นเดียวกับครั้งหนึ่งที่เคยพิจารณาจะเพิ่มเงินหยวนเข้าไปในทุนสำรองระหว่างประเทศ

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาท ว่า ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวผันผวน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่ทิศทางในปี 2568 ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้ง จากคาดการณ์เดิม 4 ครั้ง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง

ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะดูแลตามหลักการเดิม โดยจะดูให้สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ และไม่ให้กระทบกับภาคธุรกิจ

“เงินบาทขณะนี้มีความผันผวน หลัก ๆ มาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นความผันผวนที่มีเหตุผลสามารถอธิบายได้ ซึ่ง ธปท. พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ขิด” นายสักกะภพ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง