ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในไทยเติบโตมูลค่าพุ่ง 6.5 แสนล้านในปี 68

ธุรกิจร้านอาหารและร้านเครื่องดื่มในปี 2568 คาดมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 657,000 ล้านบาทเติบโต 4.6% จากปี 2567 จากภาคการท่องเที่ยวในประเทศที่ยังเติบโต การขยายสาขาของผู้ประกอบการไปยังภูมิภาค รวมถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและความต้องการอาหารและเครื่องดื่มใหม่ที่เพิ่มขึ้นช่วยหนุนการเติบโตของตลาด แต่ธุรกิจมีการแข่งขันสูงทำให้การลงทุนยังต้องระวัง

ธุรกิจร้านอาหารในปี 2568 คาดมูลค่าตลาดอยู่ที่ 572,000 ล้านบาทเติบโต 4.8% จากปี 2567 กลุ่มร้านอาหารข้างทาง (Street Food) มีอัตราการเติบโตดีกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากได้รับความนิยมจากคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ธุรกิจร้านเครื่องดื่ม (รวมร้านเบเกอรี่และไอศกรีม) ในปี 2568 คาดมูลค่าตลาดอยู่ที่ 85,320 ล้านบาทเติบโต 3.2% จากปี 2567 

แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ

ในปี 2568 คาดว่าธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 657,000 ล้านบาทเติบโต 4.6% แต่เป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวจากปี 2567

การเติบโตของธุรกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวทั้งการเดินทางท่องเที่ยวคนไทยและชาวต่างชาติที่คาดว่ายังเติบโตต่อเนื่องจากปี 2567 โดยการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) เป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ กอปรกับไทยมีร้านอาหารที่ติดอยู่ในมิชลินไกด์ กว่า 482 ร้านอาหาร จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า การใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 ของการใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวทั้งหมด

นอกจากนี้ การเติบโตของมูลค่าตลาดยังเป็นผลมาจากราคาที่ปรับสูงขึ้นตามภาวะแนวโน้มต้นทุนทางธุรกิจที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมไปถึงการขยายสาขาของผู้ประกอบการและกลยุทธ์การตลาดกระตุ้นให้รายได้ต่อครั้งการสั่งอาหารเพิ่มขึ้น 

การแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม 

ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศมีการแข่งขันรุนแรงในทุกระดับราคาและประเภทของอาหารประเทศไทยมีความหนาแน่นของร้านอาหารต่อประชากรอยู่ที่ 9.6 ร้านต่อประชากร 1,000 คนซึ่งนับว่าเป็นอัตราส่วนที่สูงโดยในปี 2568 คาดว่าร้านอาหารและเครื่องดื่มจะมีจำนวนประมาณ 6.9 แสนร้าน

ในปี 2568 ผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบรายเล็ก (บุคคล) ยังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการในตลาดมีแผนที่จะขยายสาขาในกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มเดิม รวมถึงการเปิดแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มใหม่ครอบคลุมทุกเช็กเม้นท์ของตลาด และส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มร้านอาหารเอเชีย นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มยังมาจากแนวโน้มการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ อาทิ ห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงานเปิดใหม่เป็นปัจจัยสนับสนุนจำนวนร้านอาหารเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ทิศทางลงทุนของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวสูง อาทิ ชลบุรี เชียงใหม่และสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพ โดยจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24% ของจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วประเทศ

นอกจากนี้ การแข่งขันในธุรกิจยังมาจากการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติ โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มยังได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจมากขึ้นสะท้อนได้จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า มูลค่าทุนจดทะเบียนร้านอาหารและเครื่องดื่มจำแนกตามสัญชาติ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 กลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มจากจีนมีมูลค่าการลงทุนที่เร่งตัวขึ้น และแนวโน้มการเข้ามาลงทุนน่าจะเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ การแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรงก็ทำให้เกิดการหมุนเวียนเปิด-ปิดกิจการของผู้ประกอบการใหม่และเก่าเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน สะท้อนจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ร้านอาหารปิดตัวเร่งขึ้น โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ร้านอาหารมีการจดทะเบียนยกเลิกธุรกิจสูงถึง 89% (YoY) ขณะที่การเปิดตัวใหม่ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

แนวโน้มธุรกิจร้านอาหาร

ในปี 2568 คาดว่ามูลค่าตลาดร้านอาหาร (รวมร้านอาหารประเภทร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบร้านอาหารที่ให้บริการจำกัดและร้านอาหารข้างทางหรือ Street Food ที่มีหน้าร้าน) จะมีมูลค่ารวมประมาณ 572,000 ล้านบาทเติบโต 4.8% จากปี 2567

การเติบโตของร้านอาหารแต่ละรูปแบบมีปัจจัยเฉพาะที่ต่างกันอาทิ ทำเลที่ตั้งของร้าน ความหนาแน่นของร้านอาหารทั้งที่เป็นประเภทเดียวกันและต่างกันในแต่ละพื้นที่ รวมถึงราคา คุณภาพ/รสชาติของอาหาร และการให้บริการ รวมไปถึงเทรนด์การบริโภคของผู้บริโภค การนำเสนอเมนูใหม่ๆ และมีเอกลักษณ์ก็มีผลต่อการเติบโตของร้านอาหาร

ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurants) คาดว่าจะเติบโต 2.9% จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 213,000 ล้านบาทโดยร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่มองเรื่องความคุ้มค่าและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป สำหรับกลุ่มร้านอาหารประเภทอะลาคาร์ท (A La Carte) อย่างกลุ่ม Casual Dining อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เกาหลี ไทยและตะวันตก ในกลุ่มราคาระดับกลางจะเจอกับความท้าทายจากกำลังซื้อและการแข่งขันจากร้านที่เปิดให้บริการจำนวนมาก

ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service Restaurants) คาดว่าจะเติบโต 3.8% จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 93,000 ล้านบาทการขยายตัวจะมาจากการขยายสาขาของผู้ประกอบการอย่างกลุ่มพิซซ่า และไก่ทอด และจากผู้ประกอบการที่ให้บริการในรูปแบบ Full Service ได้ปรับรูปแบบร้านอาหารมาเป็นแบบ Quick service มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้นและเป็นการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ

ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) ที่มีหน้าร้านคาดว่าจะเติบโต 6.8% จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 266,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นเมนูพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่ายและราคาไม่สูง ทำให้ร้านอาหารกลุ่มนี้ยังขยายตัวดี กอปรกับร้านอาหารแนว Street Food ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติ 

แนวโน้มธุรกิจร้านเครื่องดื่ม 

ในปี 2568 คาดว่ามูลค่าตลาดร้านเครื่องดื่ม (รวมร้านเบเกอรี่และไอศกรีม) จะมีมูลค่ารวมประมาณ 85,320 ล้านบาทเติบโต 3.2% จากปี 2567 (รูปที่ 8) การเติบโตส่วนหนึ่งมาจากการขยายสาขาของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และผู้ประกอบการรายเล็ก (บุคคล) ยังมีการเปิดร้านใหม่ รวมถึงการขยายแฟรนไชส์ร้านเครื่องดื่มของชาวต่างชาติที่น่าจะเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยมากขึ้น นอกจากนี้ เครื่องดื่มและเบเกอรี่ใหม่ๆ จากต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาด มีส่วนกระตุ้นความต้องการบริโภคเครื่องดื่มและเบเกอรี่มากขึ้น

ความเสี่ยงของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม

กำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นไม่เต็มที่ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อภาวะการมีงานทำและกำลังซื้อของผู้บริโภค 

ต้นทุนการดำเนินธุรกิจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในปี 2568 ต้นทุนรอบด้านของธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งค่าสาธารณูปโภคและค่าเช่า รวมถึงต้นทุนสำคัญ ได้แก่

ต้นทุนค่าแรง โดยผู้ประกอบการยังต้องติดตามนโยบายของภาครัฐในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2568 ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก

ต้นทุนวัตถุดิบอาหาร ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจร้านอาหารคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของต้นทุนธุรกิจ ด้วยสภาวะอากาศที่ไม่ปกติเกิดขึ้นในหลายประเทศทำให้ราคาวัตถุดิบอาจปรับขึ้นได้ โดยเฉพาะกลุ่มวัตถุดิบนำเข้าอย่างนมผง เนย ชีส โกโก้ และแป้งสาลี โดยราคาซื้อขายล่วงหน้าในปี 2568 ยังทรงตัวสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนในกลุ่มร้านเบเกอรี่และอาหารตะวันตกค่อนข้างมาก 

พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจบริการ โดย ความแปลกใหม่+ประสบการณ์+สุขภาพ+ราคาสมเหตุสมผล ได้กลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของผู้บริโภคในปัจจุบัน และเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ต่ำและเปลี่ยนแปลงตามกระแสอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงกรานต์คึกคัก ท่องเที่ยวฟื้น  เงินสะพัด 2.3 หมื่นล้านบาท

สงกรานต์ปี 2566 ความกังวลโควิดหมดไป หลายจังหวัดเตรียมจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์อย่างเต็มรูปแบบในรอบ 3 ปีกันอย่างคึกคัก

'พาณิชย์' สกัดทุนจีนสวมนอมินี ลุยตรวจเข้มร้านอาหารย่านดัง

“พาณิชย์”เดินหน้าสกัดทุนสีเทา-ต่างชาติเข้ามาหาประโยชน์ เผยการตรวจสอบทุนจีนเทาทำร้านอาหารพื้นที่เยาวราช สัมพันธวงศ์ รัชดาภิเษก ห้วยขวาง ตรวจแล้วรวม 200 ราย พบหลายรายต้องสงสัย สั่งให้ส่งเอกสารหลักฐานชี้แจง

พาณิชย์ แจงโทษหนัก ต่างด้าวถือวีซ่าท่องเที่ยวทำธุรกิจร้านอาหารในไทย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าชี้แจงข่าวชาวจีนถือวีซ่านักท่องเที่ยวเข้ามาทำธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าขาย ที่เยาวราช ยันทำไม่ได้ เหตุเป็นธุรกิจที่ห้ามคนต่างชาติทำ หากต้องการทำ ต้องได้รับอนุญาตก่อน ส่วนการจดทะเบียนพาณิชย์ ก็ไม่สามารถจดได้ ย้ำจะร่วมมือกับกระทรวงแรงงานลงพื้นที่ตรวจสอบ หากพบกระทำจริง มีความผิดทั้งกฎหมายแรงงาน และกฎหมายต่างด้าว เตือนคนไทยทำตัวเป็นนอมินี มีโทษหนัก คุก 3 ปี ปรับ 1 แสนถึง 1 ล้าน หรือทั้งจำทั้งปรับ

สสว.ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีพ.ย.พุ่ง เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

สสว.ปลื้มแนวโน้มเอสเอ็มอีกระเตื้อง หนุนดัชนีความเชื่อมั่นงวดพ.ย. ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โวค่าดัชนีฯ เกินระดับค่าฐานที่ 50 เป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกล่าสุด