‘สุริยะ’ ย้ำ ภายในสัปดาห์นี้ ‘กรมทางหลวง’ เตรียมเปิดช่องจราจรบนถนนพระราม 2 ระบายรถได้ หลังทล.เคลียร์ชิ้นส่วนเสียหายจากเหตุถล่มเสร็จแล้ว ย้ำให้ผู้รับเหมาหยุดงานก่อสร้าง 7 วัน ช่วงปีใหม่ 68 ด้านทล.ระดมหน่วยงานวางแผนการรื้อถอนอย่างแม่นยำ
10 ธ.ค. 2567 -นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้รับรายงานจากกรมทางหลวง(ทล.) ว่า ได้รื้อถอนโครงสร้างเหล็กและชิ้นส่วนสะพานคอนกรีตที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ถล่มบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ลงมาทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าน่าจะสามารถเปิดช่องทางการจราจรเพื่อระบายรถและให้ประชาชนสามารถสัญจรได้ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมที่กำหนดไว้ว่าต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ แต่ขณะนี้คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 10 วัน ทั้งนี้ในระหว่างดำเนินการรื้อถอนชิ้นส่วนที่เสียหายดังกล่าวทางผู้รับเหมาได้หยุดงานก่อสร้างไปก่อน ส่วนจะกลับมาเริ่มงานก่อสร้างอีกเมื่อไหร่นั้น ทล.ต้องตรวจสอบความปลอดภัยให้เรียบร้อยก่อนที่จะให้เดินทางก่อสร้างอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 นี้ ซึ่งคากว่าจะมีปริมาณรถใช้เส้นทางบรถนนพระราม 2 เป็นจำนวนมากจึงสั่งการให้ ทล.ประสานงานไปยังผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการบนถนนพระราม 2 ให้หยุดงานก่อสร้างเป้นเวลา 7 วันตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.2567 – 2 ม.ค.2568 ทั้งนี้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเดินทางได้คล่องตัวขึ้น และเมื่อพนช่วงเทศกาลบไปแล้วก็กลับมาทำงานก่อสร้างได้ แต่ยังคงเน้นมาตรการความปลอดภัย โดยให้ก่อสร้างเฉพาะช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น ซึ่งผู้รับเหมาสามารถปิดช่องทางการจราจรเพิ่มอีก 1 ช่องเพื่อกันเป็นเขตก่อสร้างหากมีอุบัติเหตุชิ้นส่วนก่อสร้างล่วงหล่นก็จะยังอยู่ในเขตทางที่กันไว้ไม่กระทบต่อประชาชนโดยทั่วไป
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) กล่าวถึงความคืบหน้าการรื้อถอนโครงสร้างเหล็กLaunching Gantry (LG) และชิ้นส่วนสะพานคอนกรีตที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ถล่มบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) โดยย้ำถึงความปลอดภัยและความรอบคอบในการการเตรียมการอย่างละเอียดและการดำเนินงานทุกขั้นตอน โดยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากกรมทางหลวง, วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และสภาวิศวกร ได้ร่วมบูรณาการวางแผนการรื้อถอนอย่างแม่นยำ
โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้สำรวจและวิเคราะห์โครงสร้างโดยรอบ, จุดเชื่อมต่อ, และความแข็งแรงของชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อประเมินความเสี่ยงและวางแผนการรื้อถอนที่ปลอดภัย กำหนดจุดตัดและลำดับขั้นตอนการรื้อถอนอย่างละเอียด เพื่อลดผลกระทบต่อโครงสร้างโดยรอบและป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ จัดเตรียมอุปกรณ์ตัดเหล็ก, รถเครน, และอุปกรณ์ยก-เคลื่อนย้าย ที่มีความเหมาะสมกับน้ำหนักและขนาดของโครงสร้าง และติดตามผลของระบบตรวจวัดและควบคุมการเคลื่อนตัวของโครงสร้างตลอดการดำเนินงาน เพื่อป้องกันการทรุดตัวหรือการเอียงตัว
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ทีมวิศวกรได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2567 ช่วงเช้า ต่อเนื่องมาตลอดคืน จนถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ช่วงเช้า เพื่อดำเนินการตัดชิ้นส่วนโครงสร้างส่วนท้าย (ฝั่งขาออก) ความยาว 35 เมตร น้ำหนัก 23 ตัน ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และเมื่อเวลา 06.00 น. ของเช้าวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ได้ดำเนินการปลดชิ้นส่วนคอนกรีต segment จำนวน 3 ก้อน ออกจากโครงสร้างเหล็ก LG (ฝั่งขาเข้า) พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ
นายอภิรัฐ กล่าวว่า ในวันที่ 9 ธ.ค. 2567 ทีมวิศวกรจะดำเนินการต่อเนื่องตามแผนงานที่วางไว้ คือรื้อถอนโครงสร้างเหล็ก ตัดโครงสร้างเหล็กส่วน Main Truss ด้านขาออกปลดชิ้นส่วนคอนกรีต: ปลดชิ้นส่วนคอนกรีต segment ออกจากโครงสร้างเหล็ก LG ด้านขาเข้า โดยยืนยันว่าการดำเนินการเป็นไปตามกรอบเวลาที่วางแผนไว้ และยืนยันว่าจะเร่งรื้อถอนโครงสร้างเหล็ก Launching Gantry ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด