ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ. ตั๋วร่วม เชื่อมโยงระบบการเก็บค่าโดยสาร

ครม.เห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เพื่อให้ง่ายต่อการออกระเบียบเชื่อมโยงระบบการเก็บค่าโดยสารในการเดินทาง ด้าน ‘สุริยะ’ ยัน ก.ย.68 นโยบายรถไฟฟ้า20บาท พร้อมให้บริการทุกสีทุกเส้นทาง

3 ธ.ค. 2567 – นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุม ครม.ว่า ครม.ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอขอความเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ…ซึ่งเดิมระบบการเดินทางทางน้ำ อากาศ เรือ บก เป็นระบบที่ยังไม่มีการเชื่อมโยง ฉะนั้นกฎหมายดังกล่าวจะเป็นตัวทำให้การบริหารจัดการในระบบตัวร่วม เรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วมง่ายขึ้น รวมถึงการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อสนับสนุนประชาชน รวมถึงสนับสนุนผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตที่จะเข้าระบบตั๋วร่วมจากกองทุนตั๋วร่วม

นายคารม  กล่าวต่อว่าสำหรับการออกเป็น พ.ร.บ. ตั๋วร่วมเนื่องจากเดิมใช้บังคับเฉพาะระบบราชการ แต่หลังจากนั้นมาการพัฒนาระบบการคมนาคมมีการพัฒนาขึ้นมีเอกชนเข้ามา ระบบราชการไม่สามารเสนอเอกชนได้ ฉะนั้น มีเหตุจำเป็นจึงต้องออกเป็น พ.ร.บ.ตั๋วร่วมดังกล่าวนี้

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรือง กล่าวว่า หลังผ่านครม. แล้วจะต้องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนส่งกลับมาที่ ครม. เพื่อเสนอไปที่สภาผู้แทนราษฎร ภายในเดือน ธ.ค.นี้ คาดว่าสภาฯจะอนุมัติได้ภายในเดือนมิ.ย.2568 เพื่อให้ทันตามกำหนด ที่ให้ประชาชนจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทาง ในเดือนก.ย. 2568 ทันตามกรอบเวลา

 “ปัจจุบันเวลาประชาชนเปลี่ยนสายต้องเสียค่าแรกเข้า เสียค่าโดยสารใหม่ มองว่าเป็นภาระของประชาชนอย่างยิ่ง หากเราดำเนินการนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน โดยจะชักจูงให้ประชาชนที่เดินทางในโหมดอื่นมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น” นายสุริยะ กล่าว   

สำหรับพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ จะมีการตั้งกองทุนตั๋วร่วม ซึ่งได้มีการกำหนดที่มาของรายได้กองทุนฯ โดยจะมีเงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้,และเงินรายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ไม่ต้องนำส่งคลัง เป็นต้น เพื่อชดเชยรายได้ให้ผู้ประกอบการเอกชน โดยคาดการณ์เบื้องต้นในช่วง 2 ปีแรกจะใช้เงินชดเชยประมาณ 16,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคาดว่ารายได้ของกองทุนตั๋วร่วมฯ เพียงพอที่จะนำไปชดเชยเอกชน

เพิ่มเพื่อน