‘พิชัย’ ลั่นแรงเร่งเครื่องไทยปรับโครงสร้างภาษี ชงหั่นภาษีนิติบุคคล-ขึ้นภาษีแวต ชี้เพื่อให้สอดคล้องทั่วโลก อุ้มจัดเก็บรายได้รัฐดันเคลื่อนเศรษฐกิจ สับนโยบายการเงินต้องช่วยกัน หวังยังเห็น กนง. หั่นดอกเบี้ย บี้หามาตรการระยะยาวคุมค่าบาท ยันต้องมีเสถียรภาพแต่ขอให้ค่อนไปทางอ่อน ช่วยประคองส่งออก
3 ธ.ค. 2567 – นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงาน Sustainabillity Forum 2025 : Synergizing for Driving Business ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสนับสนุนเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยได้สั่งการว่าจะต้องดำเนินการเป็นแพ็คเกจ อาทิ ภาษีนิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกจัดเก็บกันที่ราว 15% จากของไทยอยู่ที่ 20% ดังนั้นรัฐบาลต้องคิดว่าจะทำอย่างเพื่อให้ภาษีดังกล่าวปรับลดลงมา เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้
ขณะเดียวกัน ก็ต้องมาพิจารณาว่าหากมีการลดภาษีในส่วนดังกล่าวลงแล้ว จะต้องไปปรับเพิ่มภาษีในส่วนไหนเพื่อช่วยสนับสนุนเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งภาษีที่มีส่วนสำคัญคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่จัดเก็บจากการบริโภคของไทย ซึ่งปัจจุบันเก็บที่ 7% ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ทั่วโลกจัดเก็บที่ 15-25% ส่วนจะเพิ่มเป็นเท่าไหร่ก็ต้องมาพิจารณาอย่างรอบคอบ ต้องเป็นระดับที่อยู่รอดกันได้ เพราะเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอยู่ และการดำเนินการต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่ช้า
“ภาษีแวตเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ผมคิดทุกคนว่าจะทำอย่างไร สิ่งแรกคือต้องทำให้คนเข้าใจก่อน ซึ่งผมอยากบอกว่าหากจัดเก็บภาษีแวตในอัตราที่สูงขึ้น และเหมาะสม ตรงนี้จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดข่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยและคนจนลงได้ จากการจัดเก็บภาษีบริโภคที่สูงขึ้น โดยพิจารณาจากสมการง่าย ๆ คือ ภาษีแวตเป็นภาษีที่เก็บจากทุกคน คนรวยมาก คนรวยปานกลาง คนจน ซึ่งการบริโภคจะเป็นไปตามฐานะ ดังนั้นถ้าเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ แปลว่าทุกคนก็จ่ายภาษีต่ำ เงินที่เป็นกองกลางก็จะมียอดต่ำ การส่งกลับมาที่รัฐเพื่อนำไปใช้ประโยชน์จึงมีข้อจำกัด แต่ถ้าเก็บภาษีแวตสูงขึ้น คนรวยจะต้องจ่ายภาษีมากขึ้นตามยอดการใช้จ่าย เงินกองกลางก็จะใหญ่ขึ้น ก็จะทำให้รัฐสามารถส่งผ่านงบประมาณส่วนนี้ไปยังคนรายได้น้อย ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการด้านสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย และการศึกษา อีกทั้งยังช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้มากขึ้น ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้ด้วย นี่คือวิธีที่หลายประเทศทำกัน การเก็บภาษีสูงหรือต่ำจะต้องคิดให้ดี” นายพิชัย กล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเร่งพัฒนาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ ผ่านการใช้นโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุน อำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ หลังจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค เนื่องจากการลงทุนใหม่ที่อยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าไทยจะมีสภาพคล่องเหลือจำนวนมากก็ตาม ซึ่งการลงทุนที่หายไปในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายที่ไม่เกื้อหนุน แต่วันนี้มีการเปลี่ยนแปลงในโลกเกิดขึ้น ทั้งจากภาวะโลกร้อน ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้มีการโยกย้ายแหล่งผลิต ตรงนี้ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย โดยเฉพาะการสนับสนุนธุรกิจที่ตอบสนองเรื่องความยั่งยืน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แบตเตอรี่ Data Center เป็นต้น ทั้งหมดเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้ภาพเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยนโยบายสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ เพื่อทำให้เกิดการลงทุนที่ยั่งยืน ได้แก่ การดำเนินการผ่านนโยบายการเงิน ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลยังอยากเห็นอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงอีก จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.25% ต่อปี เพื่อสนับสนุนบริษัทขนาดกลางให้มีต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง แต่จะมีการปรับลดลงอีกเมื่อไหร่นั้น อยากให้เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
นอกจากนี้ ยังอยากเห็นมาตรการระยะยาวที่ชัดเจนในการดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากไทยเป็นประเทศส่งออก แน่นอนว่าอยากเห็นเงินบาทอ่อนค่า แต่จากความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันจึงเห็นเงินทุนไหลเข้ามาค่อนข้างเยอะ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีวิธีบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป แต่ก็ต้องไม่อ่อนค่าจนมากเกินไปด้วยเช่นกัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปี 2567 น่าจะขยายตัวต่ำกว่า 1% แน่นอน ขณะที่เพื่อนบ้านอยู่ที่ 2-4%ตรงนี้เป็นผลดีกับผู้บริโภค แต่จะสร้างปัญหาให้กับภาคการผลิต ซึ่งรัฐบาลอยากเห็นอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งตัวเลขที่เคยหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ที่ 2% ก็ต้องเร่งมาพิจารณากัน
“กรอบเงินเฟ้อตอนนี้กำลังเคลียร์กันอยู่ ยังพูดคุยเพื่อกำหนดเป็นตัวเลขที่ชัดเจนตามเวิร์ดดิ้งที่เคยตกลงกันไว้ คือ 2% โดยในภาพรวมทั้งหมดรัฐบาลอยากเห็นนโยบายการเงินที่ช่วยกันผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มาตรการด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่จะไม่ทำให้ค่าเงินแข็งเร็วไป หรืออ่อนเร็วไป แบบนี้เรียกว่าไม่มีสเถียรภาพ เราต้องการเห็นค่าเงินที่มีเสถียรภาพและค่อนไปทางอ่อนมากกว่า แต่เรื่องนโยบายการเงินทั้งหมดนี้ คงต้องให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่รับผิดชอบพิจารณาเรื่องนี้อย่างอิสระ วิเคราะห์ปัญหาเพื่อนำไปสู่นโยบายที่ช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” นายพิชัย ระบุ
นายพิชัย กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้เร่งดำเนินการเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 คาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ราว 2.6-2.8% ขยายตัวเกือบ 40% จากปีก่อนหน้าที่เติบโตเพียง 1.9% ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ขณะที่ปี 2568 ต่างชาติประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 3% แต่ส่วนตัวมองว่าหากรัฐบาลเร่งดำเนินการบางอย่าง ก็มีโอกาสเห็นจีดีพีขยายตัวได้ถึง 4% แต่หากมีการเร่งทำงานอย่างเต็มที่ ก็เป็นไปได้ที่จะเติบโตถึง 5% ส่วนหนึ่งต้องมาจากนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่จะต้องเดินไปด้วยกัน เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจ ภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสม
สำหรับเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ขณะนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กำลังเร่งพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชน ทั้งรายย่อยและภาคธุรกิจ ซึ่งมีมูลหนี้กว่า 1.2 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าภายใน 2-3 สัปดาห์จากนี้จะมีความชัดเจนออกมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พิชัย' รีบย้ำแค่ศึกษาขึ้นภาษีแวตมากกว่า 7%
'พิชัย' แจง แค่แนวคิดเล็งขึ้นภาษีมูลค่ามากกว่า 7% มองทั่วโลกก็ทำกัน ชี้ขอเวลาศึกษาข้อดี-ข้อเสีย เหตุส่งผลชีวิตประชาชน
รัฐบาลชู บสย.เยียวยาเอสเอ็มอีใต้
'ศศิกานต์' เผย มาตรการ บสย. เยียวยาช่วยเหลือพี่น้องชาวใต้ พักค่าธรรมเนียม-พักหนี้ 6 เดือน ช่วย SMEs ฟื้นฟูกิจการ