รฟท. ลุยสางปมรถไฟไฮสปีดช่วงสถานีอยุธยา ปักธงเฟส2 ประมูลต้นปี 69

ปักหมุด 18-22 ม.ค.ปีหน้า ผู้เชี่ยวชาญจากยูเนสโก ลงพื้นที่แหล่งมรดกโลก ‘พระนครศรีอยุธยา’ ประเมินรายงาน HIA สร้างสถานีรถไฟไฮสปีด ‘อยุธยา’ ชี้แค่มาให้คำแนะนำ เตรียมลงนามสัญญา ‘บุญชัยพาณิชย์’ เดินเครื่องงานสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ลุยต่อกลางปีหน้าประมูลรถไฟไฮสปีด เฟส 2 งานเดินรถPPP ประมูลต้นปี 69 เปิดบริการปี 71

3 ธ.ค. 2567 -รายงานข่าวแจ้งว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้รับแจ้งจากองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลกกรณีการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สถานีอยุธยา ในเบื้องต้นว่า จะเดินทางมายังประเทศไทย และลงพื้นที่แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 18-22 ม.ค.68 เพื่อพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม(HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เชื่อมโยงกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ผู้เชี่ยวชาญฯ ดังกล่าว จะทำหน้าที่ให้คำแนะนำ และมุมมองทางเทคนิคเกี่ยวกับวิธีการรักษาคุณค่าของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจว่าจะให้สร้างหรือไม่ให้สร้างสถานีอยุธยา อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเพราะก่อนหน้านี้ยูเนสโกเป็นผู้แจ้งมาว่าไม่ได้ห้ามให้ก่อสร้างสถานีอยุธยา เพียงแต่ให้จัดทำรายงาน HIA เท่านั้น ดังนั้นในระหว่างนี้ รฟท. ก็สามารถดำเนินโครงการต่อได้

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ปัจจุบันสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร(กม.) ของโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะ(เฟส)ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ยังไม่ได้มีการลงนามสัญญากับบริษัท บุญชัยพาณิชย์(1979) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง คาดว่าจะสามารถลงนามได้ในเร็วๆ นี้ โดยต้องมีการรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคมด้วย เนื่องจากนายสุริยะมีการปรับแผนงานมากำกับดูแล รฟท. ด้วยตนเอง หลังจากก่อนหน้านี้นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เป็นผู้กำกับดูแล

สำหรับความคืบหน้าการเดินรถไฟความเร็วสูงตลอดเส้นทาง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย รวมระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร(กม.) เบื้องต้นจะให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP) ในรูปแบบ PPP Gross Cost เหมือนรถไฟฟ้าสายสีม่วง วงเงินประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐจ้างเอกชนเดินรถ การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้รัฐสามารถควบคุมอัตราค่าโดยสารได้ พิสูจน์ได้จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทั้งนี้ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการดำเนินการในรูปแบบ PPP ซึ่งสำนักงบประมาณ ส่งหนังสือตอบกลับมายังกระทรวงคมนาคมแล้วว่าไม่ขัดข้อง ยังรอหนังสือตอบกลับจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์  และกระทรวงการคลัง

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หากได้รับความคิดเห็นจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครบแล้ว ทางกระทรวงคมนาคมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป ซึ่งจะเป็นการเสนอในคราวเดียวกันกับการดำเนินโครงการรถไฟไฮสปีดเฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย  ระยะทาง 357.12 กม. วงเงิน 3.41 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเสนอ ครม. ได้ในเร็วๆ นี้ และสามารถเปิดประมูลหาผู้รับจ้างได้กลางปี 68 คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ประมาณปี 71 ส่วนการเดินรถ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ประมาณต้นปี 69.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดร.อาทิตย์ แนะวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ไม่ใช่การแจกเงิน!

ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองไทย ถ้าจะให้ยั่งยืนถาวรและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ต้องเ