รัฐบาลเล็งลดนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ของธนาคารพาณิชย์ เพื่อชดเชยการพักการชำระดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้บ้าน รถยนต์ และธุรกิจ ที่เป็นหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี โดยให้ธนาคารพาณิชย์ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟู จาก 0.46% เหลือ 0.23%
ต้องระวังให้ดี … อย่าให้มีการสร้างวิกฤตรอบใหม่ !
โดยมีข้อพึงระวังหลายประการดังนี้
1. ภาระหนี้ของ FIDF จากวิกฤตเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้ง 2540 จะต้องยืดยาวออกไป “เสียวินัย” ระดับภาพรวมประเทศ โดยภาระหนี้ของ FIDF เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลบิ๊กจิ๋วเป็นนายกฯ (25 พฤศจิกายน 2539 – 9 พฤศจิกายน 2540) และ อดีตนายกฯทักษิณ เป็นรองนายกฯในสมัยนั้น (15 สิงหาคม – 8 พฤศจิกายน 2540) โดย วันที่ 4 สิงหาคม 2540 นาย ทนง พิทยะ รมว.คลัง.ขณะนั้น (21 มิถุนายน – 24 ตุลาคม 2540) ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติเงื่อนไขในการขอความ ช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ. ซึ่งนายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขณะนั้นเห็นชอบ และมอบหมายให้ รมว.คลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ดำเนินการและลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง และในวันที่ 14 สิงหาคม 2540 รมว.คลัง และ ผว.ธปท. ได้ลงนามในสัญญากับ ไอ.เอ็มเอฟ. โดยมีเงื่อนไขในการต้องจัดตั้งปรส. และ ต่อมา วันที่ 13 ต.ค. 2540 รมว.คลังขณะนั้น ได้ทำหนังสือ ลับมาก/ด่วนที่สุด ถึงเลขาธิการครม.ให้บรรจุวาระเรื่อง “มาตรการแก้ไขสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาร้ายแรง 58 แห่ง” (ต่อมาปิดถาวร 56 แห่ง) โดยให้จัดตั้ง ปรส. ขึ้นมาทำหน้าที่จัดการ
ความเสียหายของกองทุน FIDF ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้รัฐบาลต้องออกพันธบัตรชดเชยความเสียหายให้กับกองทุน FIDF มูลค่า 1.21 ล้านล้านบาท และยังค้ำประกันพันธบัตรที่ออกโดยกองทุน FIDF อีก 1.12 แสนล้านบาท รวมทั้งหมด 1.32 ล้านล้านบาท
ซึ่งภาระหนี้ที่รัฐบาลเข้าไปพยุงให้กับกองทุนนั้น ได้ถูกบันทึกเป็นหนี้สาธารณะ เดิมแหล่งจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยของหนี้ดังกล่าวมาจากงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล แต่ปัจจุบันแหล่งเงินมาจาก กำไรของ ธปท. เงินที่เก็บจากธนาคารพาณิชย์ 0.46% ของฐานเงินรับฝาก (FIDF Fee) และเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนฟื้นฟูฯ โดย ณ 31 ตุลาคม 2567 มีหนี้เงินต้นคงเหลือรวม 5.5 แสนล้านบาท และคาดว่าจะชำระหนี้เงินต้นหมดภายในปี 2574
ปัจจุบัน ธปท.ได้รับเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้า FIDF ราวปีละ 7 หมื่นล้านบาท โดยในนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท และอีกส่วน 5.4 หมื่นล้านบาท แบ่งไว้สำหรับการชำระเงินต้น
แต่หากลดเงินส่ง FIDF ลงเหลือ 0.23% จะทำให้เรียกเก็บเงินต่อปีได้ลดลงเหลือเพียง 3.5 หมื่นล้านบาท เมื่อหักภาระจ่ายดอกเบี้ยปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท และจะเหลือ 1.9 หมื่นล้านบาท สำหรับการชำระเงินต้น ซึ่งคิดเป็นเพียง 35% (1 ใน 3 เศษ) ของยอดชำระเงินต้นกรณี ชำระเต็ม 0.46% ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้จากวิกฤตต้องยืดยาวออกไปเรื่อยๆ และ ทำให้ประเทศไทยอาจถูกมองว่า หนี้ FIDF เกิดจากการขาดวินัยในการบริหารสถาบันการเงิน จนต้องปิดถาวร 56 แห่ง หลังจากที่ไทยได้แสดงวินัยในการชำระภาระนี้อย่างอดทนมากว่า 25 ปี แต่กลับมาลดวินัยในการสะสางหนี้นี้ด้วยนโยบายนี้
2. อาจส่งเสริมการ “เสียวินัย” ทางการเงินของประชาชน ปัญหาหนี้ครัวเรือนในปีนี้ ต่างกับช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นสภาวะโรคระบาดร้ายแรง ที่ไม่ได้เกิดมาหลายสิบปี ทำให้มีความเสียหายต่อเศรษฐกิจรุนแรง “ชั่วคราว” หลังจากนั้น ก็ฟื้นตัว การแก้ปัญหา จากเหตุการณ์พิเศษ โควิด-19 จึงพอเข้าใจได้
แต่ปัญหาปัจจุบัน คือการบริโภคเกินตัวของประชาชน ตามเป้าหมายกลุ่มลูกหนี้ 2 กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ 1 ลูกหนี้ที่เป็นหนี้บ้านกับสถาบันการเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท และเป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี กลุ่มที่ 2 ลูกหนี้ที่กู้ซื้อรถยนต์ไม่เกิน 800,000 บาทต่อคัน ซึ่งต้องยอมรับว่า “การก่อหนี้” ของลูกหนี้เหล่านี้ เช่นกลุ่มซื้อบ้าน บางส่วนอาจ “กู้เกินตัว” หรือ “กู้เก็งกำไร” แต่เมื่อสภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซา ควรหรือที่จะให้ระบบธนาคารพาณิชย์ นำเงินที่จะชำระภาระหนี้วิกฤตเศรษฐกิจมาช่วยกลุ่มนี้ ? แล้วประชาชนกลุ่มนี้จะได้บทเรียน “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยควรจะ “ไม่กู้เกินตัว” และ “ไม่กู้เก็งกำไรเกินไป” ได้อย่างไร ?
กลุ่มที่เป็นหนี้รถยนต์ ก็อาจพบกับปัญหารถไฟฟ้าออกมา แข่งขันกันได้ดี ราคารถต่ำลง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ที่จะซื้อรถยนต์ใช้ในราคาต่ำลง และการใช้ไฟฟ้า ก็ทำให้ประหยัดค่าน้ำมันอีกด้วย แต่ก็ทำให้รถมือสองลดลง ทั้งรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป และ รถยนต์อีวี และ ลูกหนี้อาจอยากทิ้งรถที่ได้ซื้อมาและกู้เงินในราคาสูง การช่วยลูกหนี้กลุ่มนี้ ก็เพื่อให้ได้ซื้อรถคันใหม่หรืออย่างไร ? จะเสียวินัยหรือไม่ ?
ประชาชนไม่น้อย เรียนรู้หลักการ “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่กู้เกินตัว ไม่เก็งกำไรเกินไป จึงรักษาวินัยอย่างดี กลับไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ แต่ประชาชนที่กู้เกินตัว กลับได้รับการสนับสนุน จากภาระของระบบธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นกลไกสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศโดยส่วนรวม แล้วจะทำให้เกิด “การสูญเสียจิตสำนึกอันชอบธรรม” (Moral hazard) สำหรับการสร้างวินัยทางการเงินของประชาชนต่อไปหรือไม่ ?
รัฐบาลจะออกนโยบายใด ก็พึงคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบคอบ การส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง มีวินัยในชีวิต จึงจะเป็นการนำการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน
ไทยทน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน