ไทยออยล์ แจงดำเนินงาน CFP โปร่งใส เป็นไปตามพ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ชี้เหตุล่าช้าจากกลุ่มผู้รับเหมาหลัก และปัจจัยภายนอก รับอาจจะเสร็จไม่ตามแผนในปี 68 จ่อผุดแผนจัดการก่อนชงที่ประชุมบอร์ดต้นปีหน้า ยันไม่กระทบต่อผู้ถือหุ้นแน่นอน
29 พ.ย. 2567 -นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหชน) หรือ TOP เปิดเผยถึงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการพลังงานสะอาด(CFP) ที่มีการร้องเรียนจากผู้ถือหุ้นต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ว่าอาจจะมีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)หลักทรัพย์ ว่าโครงการพลังงานสะอาด เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถใน ด้านการกลั่นน้ำมันของบริษัทฯ และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งการลงทุนในโครงการฯ บริษัทฯ ได้นำเสนอ ให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ พิจารณาและอนุมัติเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2561 ซึ่งในคราวการนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นใน ครั้งนั้น บริษัทฯ ได้จัดให้มีความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ซึ่งได้ให้ความเห็นต่อผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับความสมเหตุสมผลและ ประโยชน์ของโครงการฯ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้ถือหุ้น
โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติ โครงการดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 99.91% ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ที่เข้าประชุมและออกเสียง ลงคะแนน การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องทุกประการ และสะท้อนถึงการมีส่วน ร่วมของผู้ถือหุ้นในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีผลสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจของบริษัทฯ และการ ลงทุนในโครงการฯ เป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในปี 2561 โดยผ่านกระบวนการพิจารณาและได้รับอนุมัติจาก ผู้ถือหุ้น ตามรายละเอียดของโครงการฯ ที่นำเสนอในที่ประชุมของผู้ถือหุ้น
ขณะที่ความล่าช้าของโครงการฯ เกิดจากปัจจัยภายนอก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ โครงการฯ เกิดความล่าช้า และต้องเจรจาแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมกับผู้รับเหมาหลัก กล่าวคือ The Consortium of PSS Netherlands B.V. และ Unincorporated Joint Venture of Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. , Petrofac South East Asia Pte. Ltd. i Saipem Singapore Pte. Ltd. (เรียกรวมกันว่า “UJV – Samsung, Petrofac และ : Saipem) รวมถึงประเด็นที่ผู้รับเหมาช่วงบางรายได้ยุติการปฏิบัติงานเนื่องจาก UJ V – Samsung, Petrofac และ Saipem ไม่ชำระเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับเหมาช่วง อย่างไรก็ดี แม้จะมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความ ล่าช้าดังกล่าว บริษัทฯ ได้ดำเนินการบริหารจัดการโครงการฯ อย่างดีที่สุด ทั้งในด้านการเจรจาสัญญา การควบคุมต้นทุนและการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการฯ จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
“จริง ๆ แล้ว โครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการล่าช้า ส่วนหนึ่งมาจากการจ่ายค่าใช้จ่ายของผู้รับเหมาหลัก ต่อผู้รับเหมาช่วงไม่เป็นไปตามเป้า รวมถึงมีปัญหาจากปัจจัยภายนอกเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยกระทบ ซึ่งปัจจุบันงานดำเนินไปกว่า 90% แล้ว แต่ต้องยอมรับว่ารูปแบบการสร้างในส่วนที่เหลือนั้นยาก แต่การที่จะเปิดดำเนินงานในพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ที่เสร็จแล้วก่อนนั้นก็ไม่สามารถทำได้ เพราะกระบวนการเปิดใช้งานต้องเดินหน้าไปตามกระบวนการผลิตจากต้นทางไปปลายทาง แต่ขอให้มั่นใจว่าเรามีแผนที่ชัดเจนในการดำเนินการ ซึ่งจะทำทุกวิถีทาง ทั้งการเจรจา ทำสัญญา ควบคุม และบริหารความเสี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด)ช่วงต้นปี 68 เพื่อพิจารณาในสัญญาการดำเนินงาน และกำหนดแผนการปฏิบัติที่ชัดเจนออกมา”นายบัณฑิต กล่าว