'แบงก์ชาติ' เผยเศรษฐกิจต.ค.ยังฉลุย ชี้IMFแนะหั่นดอกเบี้ยเพิ่มลดภาระลูกหนี้

‘แบงก์ชาติ’ เผยเศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค. 2567 ยังฉลุย อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยว-มาตรการโอนเงิน 10,000 บาท ช่วยหนุน แจง IMF ชมเปาะลดดอกเบี้ยช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ระบุยังมีช่องหั่นเพิ่มได้ หวังช่วยลดภาระลูกหนี้

29 พ.ย. 2567 -นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค. 2567 ปรับตัวดีขึ้นจากรายรับภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคที่ส่วนหนึ่งได้รับผลบวกจากมาตรการเงินโอน 10,000 บาท ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในประเทศ และการส่งออกที่ไม่รวมยานยนต์ปรับดีขึ้น

ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำและฟื้นตัวช้า โดยการผลิตและการส่งออกยังถูกกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะสินค้าจีนที่เข้ามาล้นตลาด ทั้งในกลุ่มสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น และยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้ว ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน พบว่า เงินบาทต่อดอลลาร์ ในเดือนต.ค. และพ.ย. อ่อนค่าลง จากการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐ จากตัวเลขตลาดแรงงานและผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้เงินเฟ้อของสหรัฐฯ สูงขึ้น และอาจไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับที่เคยประเมินไว้

“ช่วงที่ผ่านมา คณะผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคภาคและท่องเที่ยว แม้การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายที่ล่าช้า โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัว 2.7% และปี 2568ที่ 2.9% จากการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับหน่วยงานเศรษฐกิจ และธปท.” นางสาวชญาวดี กล่าว

สำหรับความเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม คือ ความไม่แน่นอนสถานการณ์การค้าโลก ผ่านการส่งออก และเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่อาจปรับลดลง และความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และภาวะการเงินภายในประเทศ ภาระหนี้ของเอกชน ที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกืจ

ทั้งนี้ IMF มองว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ ในระยะต่อนโนบายจะต้องหันมาเน้นการสร้างช่องว่างในการทำนโยบายการเงิน มองว่า นโยบายการคลังอาจขยายตัวได้น้อยลงกว่าแผนที่คาดไว้ ซึ่งยังทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยจัดสรรนโยบายบางส่วนไปเพิ่มผลิตภาพ ปฏิรูปการคุ้มครองทางสังคม เพื่อให้การเติบโตทั่วถึง และลดสัดส่วนหนี้สาธารณะลงด้วย ส่วนนโยบายการเงิน IMF เห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และมองว่าอาจลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เนื่องจากความเสี่ยงในการก่อหนี้ใหม่อาจมีไม่มาก เพราะสินเชื่อชะลอตัว และแนะนำให้ ธปท.เตรียมพร้อมและปรับนโยบายในลักษณะ DATA และ Outlook Dependent เพื่อรองรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น

“ในตอนประเมิน มองตรงกันว่า เป็นเรื่องการปรับดอกเบี้ยเพื่อให้เป็นปกติ ไม่ได้เป็นไซเคิล ซึ่ง IMF มองว่า ปรับอีกสักครั้งน่าจะได้” นางสาวชญาวดี กล่าว

นางสาวปราณี สุทธิศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ในเดือน ต.ค. 2567 รายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่พำนักในไทยสะสมเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว อยู่ที่ 2.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 2.5 ล้านคน ส่วนการส่งออก ขยายตัวที่ 14.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 17.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 0.83% ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.77%

อย่างไรก็ดี แนวโน้มในระยะข้างหน้า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม มีบางอุตสาหกรรมที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลให้รายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังเปราะบาง โดยยังต้องติดตาม ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และนโยบายการค้าของสหรัฐ ที่จะส่งผลต่อการส่งออกและการผลิต รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

เพิ่มเพื่อน