สศอ. ปรับกรอบ MPI อีกรอบ คาดติดลบ 1.6% หลังสถานการณ์ภาคอุตฯยังไม่ฟื้น

สศอ. ปรับกรอบ MPI อีกรอบ คาดติดลบ 1.6หลังสถานการณ์ภาคอุตฯยังไม่ฟื้น หนี้ครัวเรือน และ NPL สูง ลุ้นปี 68 กลับมาขยายตัว 1.5-2.5เผยภาพรวม 10 เดือน หดตัวเฉลี่ย 1.63%

 27 พ.ย. 2567 – นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้ทำการปรับประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ ติดลบ 1.6% และการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรมจะติดลบ 1.0% จากกรอบเดิมที่คาดว่า MPI จะอยู่ที่ ติดลบ 1.0 ถึง 0.0% และGDP ภาคอุตสาหกรรมจะติดลบ 0.5% ถึงขยายตัว 0.5% เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันอื่น ๆ อาทิ ความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ในหลายภูมิภาค ความไม่แน่นนอนของนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ หนี้สินภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่ตัวเลข MPI งวดเดือนต.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 93.41 หดตัว 0.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 57.75% ส่งผลให้ภาพรวม 10 เดือนแรกปี 2567 หดตัวเฉลี่ย 1.63% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 58.72% โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิต ได้แก่ ปัญหาขาดกำลังซื้อภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับสูง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย ผู้บริโภคมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้านำเข้ามากขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่า และความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเงิน 10,000 บาท เฟสแรก การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคบริการและการผลิตรองรับสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการค้าระหว่างประเทศของไทยกับคู่ค้าหลักยังมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภาคการท่องเที่ยวและการบริการยังมีทิศทางขยายตัว รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ สศอ. คาดการณ์ประมาณการตัวเลขดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 2568 จะกลับมาขยายตัว 1.5 – 2.5%

นายภาสกร กล่าวว่า ด้านระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนพ.ย. 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง” โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง เนื่องจากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์และพื้นที่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ด้านความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากความคาดหวังถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่องเช่นเดียวกัน จากภาคการผลิตในสหภาพยุโรปที่ซบเซาและญี่ปุ่นที่เริ่มชะลอตัว ส่วนในสหรัฐอเมริกามาจากความกังวลต่อนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของรัฐบาลชุดใหม่

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนต.ค. 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 28.98% คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 39.18% สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 39.24% ขณะที่อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบ MPI ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ น้ำมันปาล์ม และชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 

เพิ่มเพื่อน