“ธปท.” กางผลงานแบงก์พาณิชย์ไตรมาส 3/67 พบปล่อยสินเชื่ออืด หนี้เสียทะยาน 5.53 แสนล้านบาท ทะยานสูงสุดตั้งแต่ไตรมาส 4/64 ปะทุจากสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค พร้อมแจงมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนชัดเจนก่อนสิ้นปีนี้
26 พ.ย. 2567 -นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3/2567 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ลดลง 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2553 (ช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์) เนื่องจากจากการชำระคืนหนี้ที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการจ่ายคืนหนี้ของภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ แม้การให้สินเชื่อใหม่ยังมีต่อเนื่องในธุรกิจขนาดใหญ่ในภาคบริการ อสังหาริมทรัพย์ พาณิชย์ และสินเชื่ออุปโภคบริโภค ประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่มีแนวโน้มชะลอลง ขณะที่สินเชื่อในภาคธุรกิจที่เผชิญปัญหาความสามารถในการแข่งขันยังคงหดตัว โดยเฉพาะในกลุ่มปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์
สำหรับยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ในไตรมาส 3/2567 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.53 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.97% สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 ซึ่งอยู่ที่ 5.50 แสนล้านบาท คิดเป็น NPL 3.02% โดย NPL ของไตรมาส 3/2567 ที่ปรับเพิ่มขึ้น มาจากทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาอยู่เดิม และเคยได้รับความช่วยเหลือแล้ว โดยธนาคารพาณิชย์ยังบริหารจัดการคุณภาพหนี้ และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 3/2567 ปรับดีขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการวัดมูลค่าตราสารทางการเงิน ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง ทั้งนี้ หากเทียบไตรมาสก่อน จะพบว่ากำไรสุทธิปรับลดลง โดยหลักจากการลดลงของรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล แม้ค่าใช้จ่ายสำรองปรับลดลง
“ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจเอสเอ็มอี และครัวเรือนบางกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวไม่เต็มที่ และมีภาระหนี้สูง รวมถึงธุรกิจในกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง และความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ NPL ยังมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (NPL cliff)” นางสาวสุวรรณี ระบุ
ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 89.6% ต่อจีดีพี ปรับลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ซึ่งอยู่ที่ 90.7% จากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลง สอดคล้องกับกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) ส่วนแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 3 คาดว่าจะลดลงเล็กน้อยจากในไตรมาส 2
อย่างไรก็ดี ในส่วนความคืบหน้ามาตรการแก้หนี้ครัวเรือน เร็ว ๆ นี้จะมีรายละเอียดออกมา โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนก่อนสิ้นปี 2567 ซึ่งการให้ความช่วยเหลือจะเน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาและเป็นกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากธปท.กังวลก่อให้เกิดวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ (Moral Hazard) จึงมีวันที่กำหนดที่เป็นหนี้เสีย (Cut-off) โดยแหล่งเงินทุนที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งจะมาจากการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลด 0.23% จาก 0.46% และเงินส่วนหนึ่งจากธนาคารพาณิชย์เข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม
“แน่นอนการปรับลดเงินนำส่งลง 0.23% ย่อมกระทบต่อการชำระหนี้ FIDFที่ล่าช้า เพราะโดยปกติการลดเงินนำส่ง FIDF ครึ่งหนึ่ง การชำระหนี้จะขยับไปครึ่งปี ซึ่งการตัดสินใจปรับลดตรงนี้ขึ้นอยู่กับ ธปท. แต่ในส่วนของการจัดสรรการชำระหนี้จะขึ้นอยู่กับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ว่าจะจัดสรรการชำระหนี้อย่างไร จะชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยก่อนหรือหลัง” นางสาวสุวรรณี กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘พิชัย’ ตีมึนยันยังไม่ได้รับเสนอชื่อตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
“พิชัย” ยันยังไม่ได้รับรายงานการเสนอรายชื่อประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ พร้อมระบุถ้ามีการส่งชื่อเข้ามา จะขอพิจารณาอีกรอบ แจงเป็นหน้าที่