ช่วงใกล้สิ้นปี มีแต่ข่าวรัฐบาลเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หลังจากที่ได้แจกเงินหมื่นรอบแรกไปแล้วให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรผู้พิการไปแล้ว 1.42 แสนล้านบาทเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา หวังดันจีดีพีปี 2568 โตเกิน 3% แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นแน่นอนว่าต้องใช้เม็ดเงินงบประมาณจำนวนมาก โดยอาจทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยใกล้เต็มเพดาน 70% ของจีดีพีภายในปี 2570 และภาคการคลังไทยจะมีความเปราะบางต่อวิกฤติการณ์ต่างๆ ในอนาคตมากขึ้น
25 พ.ย. 2567 – ธนาคารโลก (World Bank) ระบุในรายงานเรื่อง Thailand Systemic Country Diagnostic Update 2024: Shifting Gears Toward Sustainable Growth and Inclusive Prosperity ว่าสถานะรายได้รัฐของประเทศไทยอาจไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนความจำเป็นในการใช้งบประมาณเพื่อการรับมือกับสังคมสูงวัย การปกป้องและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และลดความเปราะบางของเศรษฐกิจต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงควรเร่งดำเนินการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังอย่างเป็นรูปธรรม โดยการเพิ่มรายได้รัฐ ผ่านการผลักดันให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างภาษีประเภทต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ภาษีโดยเร็ว
จริงๆ แล้วกระทรวงการคลังได้ทำการศึกษาการปฏิรูปภาษีต่างๆ มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Negative Income Tax การจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจากบริษัทข้ามชาติตตามข้อตกลงของ OECD ภาษีคาร์บอน การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่และยาเส้น เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่จะช่วยเพิ่มรายได้ภาษีให้รัฐ แต่น่าเสียดายที่การปรับปรุงภาษีบางตัวที่น่าจะทำได้ง่ายและเร็วที่สุด กลับไม่ถูกดำเนินการ
หนึ่งในนั้นก็คือภาษีสรรพสามิตยาสูบ ที่จัดเก็บได้ลดลงตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่มีการเพิ่มอัตราภาษีถึง 2 ครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว โดยตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่แบบ 2 เทียร์เมื่อปี 2560 จากที่เคยเก็บภาษีได้ 68,603 ล้านบาทในปี 2560 ก็ลดเหลือเพียง 51,247 ล้านบาทในปี 2567 หรือลดลง 25% ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเคยทำการศึกษาไว้เมื่อปี 2564 โดยพบว่าภาษีบุหรี่ 2 เทียร์มีความซับซ้อนและไม่ได้ลดแรงจูงใจในการบริโภคยาสูบ แถมยังทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมในหลายมิติ และแนะนำให้ปรับปรุงโครงสร้างภาษีบุหรี่จาก 2 เทียร์ เป็นแบบอัตราเดียว ตามหลักสากลที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกเค้าใช้กันตามคำแนะนำขององค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น ธนาคารโลก องค์การอนามัยโลก เป็นต้น แต่เหมือนที่ผ่านมารัฐบาลจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะแม้จะมีข่าวเกี่ยวกับความพยายามในการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่มาปีกว่าแล้ว แต่ปัจจุบันกรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลังยังไม่มีการดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างภาษีบุหรี่แต่อย่างใด ปล่อยให้รายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบตลอด 7 ปีที่ผ่านมาลดลงเรื่อย ๆ
ล่าสุด รายงาน ASEAN Tobacco Control Atlas (6th edition) ของ Southeast Asia Tobacco Control Alliance (SEATCA) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงโครงสร้างภาษีบุหรี่ในประเทศไทยไว้ว่า “ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ประเทศไทยได้ใช้ระบบภาษีแบบหลายเทียร์ ซึ่งไม่มีประสิทธิผลหรือประสิทธิภาพเท่ากับระบบที่ไม่มีเทียร์” ในขณะที่รายงานเรื่อง Cigarette Tax Scorecard ปี 2567 ภายใต้โครงการในสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งอิลลินอยส์ ที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการประเมินโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ทั่วโลก และพบว่าประเทศไทยได้คะแนนต่ำมากในด้านโครงสร้างภาษี (Tax Structure) จากการที่มีโครงสร้างภาษีบุหรี่แบบหลายเทียร์ (1 คะแนนจากเต็ม 5 คะแนน) อยู่ในกลุ่มเดียวกับบังกลาเทศ อินเดีย พม่า เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา เป็นต้น โดยรายงานฯ ระบุว่าโครงสร้างภาษีบุหรี่เป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในการบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขและด้านรายได้ของรัฐ และโครงสร้างที่มีหลายเทียร์ทำให้มีซับซ้อนและเกิดช่องโหว่ที่ทำให้เลี่ยงภาษีได้ง่ายกว่า
สำหรับเรื่อง Negative Income Tax การที่กระทรวงการคลังจะหยิบเอาผลการศึกษาของ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเมื่อ 10 ปีก่อนมาพิจารณาปรับปรุงให้ทันสถานการณ์ ก็ไม่ควรใช้เวลาศึกษาเพิ่มเติมนานเกินไป เพราะเกรงจะเหมือนเรื่องภาษีสรรพสามิตยาสูบที่ศึกษากันมาหลายปีก็ยังไม่ได้ปรับโครงสร้าง Negative Income Tax เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าสู่ระบบภาษีกันมากขึ้นและยังจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้สวัสดิการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย อีกทั้งยังจะจูงใจให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยพยายามสร้างรายได้มากขึ้น ซึ่งในภาพรวมก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศและต่อรายได้ภาษีของรัฐในระยะยาวด้วย จึงฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลชุดนี้ว่าจะผลักดันให้เป็นจริง
นอกจากนี้ ยังมีช่องทางเพิ่มรายได้ภาษีอื่นๆ อีกมากมายจากธุรกิจใต้ดินต่างๆ ตามนโยบายรัฐที่ต้องการสร้างรายได้ใหม่ด้วยการนำเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี ๆ อาทิ การเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าที่มีคนใช้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเห็นได้ชัดตามท้องถนนทั่วไป แต่กลับไม่ต้องเสียภาษีและยังมีความเสี่ยงต่อคนใช้จากการที่สินค้าไม่ได้มาตรฐานเพราะไม่ผ่านการควบคุมคุณภาพใด ๆ จากภาครัฐเลย
การเพิ่มรายได้ให้ประเทศต้องอาศัยเม็ดเงินภาษีเพิ่มขึ้น การปรับโครงสร้างภาษีจึงเป็นวาระแห่งชาติที่จะสร้างรายได้มาขับเคลื่อนนโยบายในด้านอื่นๆ ต่อไปได้ รัฐบาลควรหยิบผลการศึกษาและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ ที่เคยทำไว้มาเร่งพิจารณาดำเนินการโดยด่วน เพราะหากไม่ลงมือทำ ผลการศึกษาต่างๆ ที่ทำกันไว้มากมายก็ไม่เกิดมีประโยชน์แต่อย่างใด และรัฐอาจไม่เหลือพื้นที่ทางการคลังมารับมือวิกฤติการณ์และความท้าทายต่างๆ ในอนาคตได้อีกต่อไป
บทความโดย
รศ. ดร. ภัทรกิตติ์ เนตินิยม
หัวหน้าภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์