รฟท. กางแผนเปิดบริการรถไฟทางคู่เฟส 1 ใน 2 เส้นสุดท้ายสายเหนือ ‘ลพบุรี-ปากน้ำโพ’ และสายอีสาน ‘มาบกะเบา-ชุมทางจิระ’ เป็นของขวัญปีใหม่ เตรียมซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า 113 คันหวังเพิ่มขนส่งสินค้า
25 พ.ย. 2567 -นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยหลังต้อนรับ คณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา นำโดยนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ประธานคณะกรรมาธิการฯ มาเยี่ยมเยือน รฟท. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลดำเนินงานในปี 2567 แนวทางดำเนินงานปีงบฯ 2568 และความคืบหน้าโครงการสำคัญของ รฟท. โดยปัจจุบัน รฟท. ให้บริการขบวนรถโดยสาร 2 ประเภท ได้แก่ ขบวนรถโดยสารเชิงสังคม 146 ขบวน/วัน และเชิงพาณิชย์ 74 ขบวน/วัน รวม 220 ขบวน/วัน มีปริมาณการผู้โดยสารปี 2567 ประมาณ 30,870,000 คน เป็นรายได้กว่า 3,921.30 ล้านบาท ให้บริการขนส่งสินค้า 62 ขบวน/วัน ในปี 2567 มีปริมาณขนส่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 12,8000,000 ตัน รายได้กว่า 2,122.60 ล้านบาท
สำหรับโครงการสำคัญขณะนี้ ได้เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แล้วเสร็จตามแผนงานโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน (เฟส 1) 7 เส้นทาง เปิดบริการแล้ว 5 เส้นทาง 1.ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย 2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 3.ช่วงนครปฐม-หัวหิน 4.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และ 5.ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ส่วนอีก 2 เส้นทาง 1.ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ เตรียมเปิดบริการช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เพื่อมอบเป็นของขวัญประชาชน และ 2.ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ใกล้เสร็จคาดว่าจะเปิดใช้งานช่วงต้นปี 2568
ส่วนโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง 1. เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ 2. บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม รวมระยะทาง 677 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย) รวมระยะทาง 609 กม. อยู่ระหว่างเร่งรัดระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ระยะทาง 250.77 กม. คาดว่าจะเปิดบริการได้ตามแผนภายในปี 2571
อย่างไรก็ตาม ในด้านรถจักรและล้อเลื่อน รฟท. เร่งผลักดันโครงการจัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ 113 คัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้บริการขนส่งสินค้า และรองรับโครงการรถไฟทางคู่ที่จะทยอยเปิดใช้งานในอนาคต สามารถประหยัดพลังงานได้ประมาณ 10-30% รวมถึงจัดหารถจักรสับเปลี่ยนที่ใช้แบตเตอรี่ 17 คัน ทดแทนรถจักรสับเปลี่ยนเดิมที่มีสภาพการใช้งานกว่า 60 ปี รวมทั้งจัดหารถดีเซลราง (Hybrid DEMU) 184 คัน เพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งเชิงพาณิชย์ รองรับทางคู่ กำลังรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อชี้แจงสำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป
นายวีริศ กล่าวว่า ที่ผ่านมา รฟท. ยังมีรายได้จากการให้เช่าที่กว่า 3,987.19 ล้านบาท แต่ในอนาคตหลังจากโอนที่ทั้งหมดให้กับบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด บริษัทลูกของ รฟท. แล้ว เชื่อว่าจะพัฒนา และสร้างรายได้ให้กับ รฟท. เพิ่มขึ้นอีก ส่วนบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ที่ให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง 2 เส้นทางสายเหนือ ระหว่างสถานีบางซื่อ-สถานีรังสิต 10 สถานี และสายใต้ สถานีบางซื่อ-สถานีตลิ่งชัน 3 สถานี นโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ทำให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ช่วงปี 2567 มีผู้โดยสารกว่า 10,602,478 คนต่อปี