'สภาพัฒน์' เผยหนี้ครัวเรือนไทยลดลงต่ำกว่า 90% รอบ3ปีครึ่ง

‘สภาพัฒน์’ เผยหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/67 ลดลงเหลือ 89.6% ต่อจีดีพี ต่ำกว่า 90% เป็นครั้งแรกในรอบ 3ปีครึ่ง จับตาแบงก์เข้มปล่อยกู้ ทำประชาชนหันพึ่งหนี้นอกระบบ ขณะที่การใช้ ‘FIDF’ช่วยลดหนี้ต้องรอรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง

26 พ.ย.2567-นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2567 พบว่าจากข้อมูลหนี้สินครัวเรือนช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 มีมูลค่า 16.32 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.3% ชะลอลงจาก 2.3% ในไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี ปรับลดลงจาก 90.7% ของไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 89.6% เป็นการปรับลดลงต่ำกว่า 90% ต่อ จีดีพี เป็นครั้งแรกในรอบ 3ปีครึ่ง หรือตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 ซึ่งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนขณะนั้นอยู่ที่ 91.2% ต่อจีดีพี

ทั้งนี้ แม้หนี้สินครัวเรือนเกือบทุกประเภทปรับตัวชะลอลงยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนหนึ่งมาจากการมีภาระหนี้ที่สูง ประกอบกับคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลงทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ สะท้อนจากเงินให้กู้แก่ภาคครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 หรือ 38.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดมีการหดตัวเป็นครั้งแรกที่ 1.2% ส่วนด้านคุณภาพสินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง ยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลที่ค้างชำระเกิน 90 วัน (NPLs) ในฐานข้อมูลเครดิตบูโรมีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8.48% เพิ่มขึ้นจาก 8.01% ของไตรมาสที่ผ่านมาเป็นการเพิ่มขึ้นในสินเชื่อทุกวัตถุประสงค์

สำหรับไตรมาส 3 ปี 2567 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.0 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566  0.1% จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่หดตัวต่อเนื่องที่ 3.4% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์อุทกภัย ส่วนสาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวได้ที่ 1.4% โดยสาขาการขนส่งและเก็บสินค้าขยายตัวได้มากที่สุดที่ 14.0% และสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่ 6.1% ขณะที่สาขาการผลิตหดตัว 1.4% โดยเฉพาะในการผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตยานยนต์ ชั่วโมงการทำงานโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่บางส่วนยังต้องการทำงานเพิ่ม โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 43.3 และ 47.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามลำดับ โดยผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น3.8% ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานลดลง 32.9% และผู้ทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้น15.0% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่1.02% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.1 แสนคน

นายดนุชา กล่าวว่าหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสอง ปี 2567 ขยายตัวชะลอลง จากการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้น ด้านคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ แนวโน้มการก่อหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น ลูกหนี้บ้านที่มีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ความเสี่ยงในการพึ่งพาหนี้นอกระบบของครัวเรือน และการเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาอุทกภัย

สำหรับประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในระยะถัดไป ได้แก่ 1. แนวโน้มการก่อหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น ในสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด โดยเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง หากครัวเรือนไม่ระมัดระวังในการก่อหนี้หรือไม่มีวินัยทางการเงิน จะนำไปสู่การติดกับดักหนี้ 2. ความเสี่ยงจากการต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบของครัวเรือน จากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่อง โดยเฉพาะลูกหนี้ที่กู้ในระบบเต็มวงเงินแล้ว 3. แนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้บ้านที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะบ้านที่มีวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 3 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่า รายได้ของครัวเรือนบางกลุ่มยังไม่ฟื้นตัว และสถานะทางการเงินยังตึงตัว จากการเลือกที่จะผิดนัดชำระหนี้บ้านก่อนสินเชื่อประเภทอื่น แม้ว่าบ้านจะถือเป็นสินทรัพย์จำเป็น

และ 4. ผลกระทบของอุทกภัยต่อสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ซึ่งภาครัฐอาจต้องติดตามการเข้าถึงมาตรการการช่วยเหลือของผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงต้องเร่งฟื้นฟูสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาพปกติ เพื่อให้รายได้ของครัวเรือนฟื้นตัวโดยเร็วการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังในไตรมาสสาม ปี 2567 เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งตับจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี เพิ่มขึ้น และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นายดนุชา กล่าวถึงเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีมาตรการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือรายละเอียด เพื่อให้เริ่มดำเนินการได้เร็วที่สุด และอยากให้เป็นแนวทางแก้หนี้ได้ในระยะยาว ส่วนจะแก้ไขได้มากน้อยเพียงใดต้องติดตามหลังมาตรการออกมาแล้วอีกครั้ง โดยพยายามแก้ปัญหาหนี้บ้านและรถยนต์ ส่วนแนวทางการลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลง 0.23% เพื่อช่วยจ่ายดอกเบี้ยในการพักชำระหนี้ 3 ปี ให้ลูกหนี้นั้นต้องรอรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง เพราะมีผลผูกพันการแก้หนี้ครัวเรือน และยังเป็นการลดภาระใช้งบประมาณ

สำหรับมาตรการ Negative income tax หรือระบบภาษีแบบใหม่ มีข้อเสนอแนะ คือหากจะทำได้ต้องดึงคนนอกระบบภาษีเข้าระบบให้ได้ก่อน และให้เห็นผลประโยชน์รวมถึงสวัสดิการที่จะได้รับ ซึ่งจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดให้รอบด้าน ทั้งเกณฑ์รายได้ ระดับการช่วยเหลือ เพื่อสร้างแรงจูงใจคนให้เข้าในระบบภาษี

เพิ่มเพื่อน