'สุริยะ' สแกนรถใช้CNG จี้ขบ. คุมเข้มความปลอดภัยสูงสุด

‘สุริยะ’ ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบสภาพรถโดยสาร พร้อมสั่ง ขบ. คุมเข้มสภาพรถ ยึดมาตรฐาน UN จัดระดับชั้นรถโดยสาร เน้นย้ำ! คำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด ด้าน ขบ.แจ้งมีรถโดยสาร CNG มาเช็คสภาพ 7พันกว่าคัน แจ้งหยุดให้บริการ 1,531 คันส่วนรถที่ยังไม่มาตรวจเช็ค 4,411 คัน ขบ.ขีดเส้นตายยืดหายใจได้ถึง 15 ธ.ค.67 หากไม่มาตรวจสภาพถูกถอนใบอนุญาตแน่

22 พ.ย. 2567 – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ความสูญเสียกรณีรถโดยสารสาธารณะพาคณะครูและนักเรียนไปทัศนศึกษาเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม  67 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีครูและนักเรียนเสียชีวิตจำนวน 23 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง โดยขณะนี้คณะกรรมการพิจารณามาตรการเชิงป้องกันสำหรับการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งมี นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคมหัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เป็นประธาน

ทั้งนี้ ได้วิเคราะห์หาสาเหตุและปัจจัยอันส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจากการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้รายงานข้อสรุปถึงมาตรการ  ความปลอดภัยของสาธารณะนั้น ไม่สามารถต่อรองได้ อย่างไรก็ตามในภาพรวมนั้นเพื่อให้การบริการรถโดยสารสาธารณะของประเทศไทยมีความปลอดภัยสูงสุด ขณะเดียวกันให้ทาง ขบ. เร่งดำเนินการตามมาตรการ โดยระยะสั้นนั้นต้องให้รถที่ใช้ CNG ทุกคันเข้ามาตรวจสภาพทั้งหมดโดยเร็วที่สุด

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) กล่าวว่า ปัจจุบันรถโดยสารที่ใช้ระบบ CNG มีทั้งหมด13,426 คัน ขณะนี้ได้ดำเนินการตรวจสอบและเช็กสภาพความเรียบร้อยแล้ว 7,484 คัน ขณะที่มีผู้ประกอบการมารายงานตัว แจ้งหยุดใช้รถ 1,531 คัน ดังนั้นล่าสุดคงเหลือรถที่ยังไม่เข้ารับการตรวจสภาพ จำนวน 4,411 คัน คิดเป็น33% ของทั้งหมด เบื้องต้นคาดว่าภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน  67 จะดำเนินการตรวจสภาพและเช็กระบบเสร็จทั้งหมด สำหรับสาเหตุรถไฟไหม้นั้นเบื้องต้นสำนวนอยู่ที่พนักงานสอบสวนพิสูจน์หลักฐาน สันนิษฐานบื้องต้นเกิดจากขั้วถังแก๊สรั่วหลุด จนเกิดประกายไฟ ขณะเดียวกันต้องรอข้อมูลจากพิสูจน์หลักฐานสรุปผล

นายจิรุตม์ กล่าวว่า จะเพิ่มข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์สำหรับรถโดยสารสาธารณะที่อ้างอิงตามมาตรฐานสากลUN Regulations จำนวนไม่น้อยกว่า 5 รายการ ที่เป็นปัจจัยไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ คือ 1.ระบบก๊าซเชื้อเพลิง 2.ระบบห้ามล้อมือและห้ามล้อเท้า 3.ระบบล้อและยาง 4.ระบบฉุกเฉิน และ5.ระบบการทรงตัว หากตรวจผ่านจะถือว่าได้White List หากตรวจไม่ผ่าน ให้ ขบ. มีคำสั่งห้ามใช้รถทันที ขณะเดียวกัน ขบ.อยู่ระหว่างแนวทางกำหนดให้มีอายุการใช้งานของเลขตัวถังที่ติดภายในรถ (คัสซีรถ) ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ภายในต้นปีหน้า

ทั้งนี้ หากรถถูกพ่นห้ามใช้จะมีหนังสือให้แก้ไขภายใน 15 วัน หากไม่นำรถเข้าตรวจภายใน 15 วัน จะถูกปรับไม่เกิน50,000 บาท และหากไม่นำรถเข้าตรวจภายในกำหนดวันที่ 30 พฤศจิกายน 67 จะไม่สามารถนำรถไปให้บริการสาธารณะได้ รวมถึงมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และจะมีหนังสือให้นำรถมาตรวจภายใน 15 วัน หากยังไม่นำรถเข้าตรวจภายใน 15 วัน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และถอนรถออกจากใบอนุญาต หากฝ่าฝืนนำรถถูกถอนไปใช้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เพิ่มเพื่อน