อย่าให้ประเทศล่มสลายต่อหน้าต่อตาเพราะคอร์รัปชัน

การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาสําคัญที่ฉุดรั้งไม่ให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเติบโตและพัฒนาเป็นประเทศรายได้สูงตามศักยภาพที่มี ซึ่งน่าเสียดายมาก ความรุนแรงของปัญหาเห็นได้ชัดจากตัวเลขดัชนีการรับรู้การทุจริตคอร์รัปชันล่าสุดปี 2023 (Corruption Perception Index) โดยองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ ที่ประเทศในอาเซียนเกือบทั้งหมดยกเว้นสิงคโปร์และมาเลเซีย ถูกจัดอยู่ในระดับประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงใน 180 ประเทศทั่วโลก คือ เวียดนาม อันดับ 83 ไทย 108 อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ 115 ลาว 136 กัมพูชา 158 เมียนมา 162 ขณะที่มาเลเซียอยู่อันดับ 57 และสิงคโปร์ อันดับ 5 อันดับยิ่งต่ำหมายถึงการรับรู้การทุจริตคอร์รัปชันที่น้อย

18 พ.ย. 2567 – การทุจริตคอร์รัปชันมีผลโดยตรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในสังคม ซึ่งกรณีประเทศไทยผลกระทบมีมาก เพราะในช่วงเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมาสถานการณ์คอร์รัปชันประเทศเรารุนแรงขึ้นต่อเนื่องไม่เคยหยุด จนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่ำสุดในภูมิภาค และประเทศมีความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก คําถามคือ ทําไมในหลายประเทศรวมถึงไทยการทุจริตคอร์รัปชันจึงไม่ดีขึ้น ทําไมไม่มีใครแก้ปัญหาทั้งที่เป็นความเสียหายต่อประเทศ ปัญหาแก้ได้ไหม และถ้าไม่แก้ประเทศจะเป็นอย่างไร นี่คือประเด็นที่จะเขียนให้คิดวันนี้

ถ้าจะเข้าใจปัญหาคอร์รัปชัน สิ่งแรกที่ต้องตระหนักคือ การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรง เช่นหลายประเทศในอาเซียน สาเหตุของคอร์รัปชันไม่ใช่การทุจริตหรือการทําผิดเป็นครั้งคราว โดยพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นเพราะความจําเป็นทางเศรษฐกิจ แต่มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดจากความสัมพันธ์ และโครงสร้างทางอํานาจที่ประเทศมีที่เอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งเพื่อแสวงประโยชน์และเพื่อรักษาอํานาจของผู้มีอํานาจ ซึ่งผู้มีอำนาจก็คือกลุ่มบุคคลที่ควบคุมการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศมาได้ต่อเนื่องยาวนาน และไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเพราะผลประโยชน์ที่มีในโครงสร้างทางอํานาจของประเทศ

ในทางรัฐศาสตร์ กลุ่มบุคคลที่พูดถึงนี้ก็เช่นบุคคลจากครอบครัวนักการเมือง ครอบครัวนักธุรกิจ ผู้มีอิทธิพลในระบบราชการ ทหาร และท้องถิ่น ที่ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างคนเหล่านี้ รวมถึงเครือข่ายที่สร้างขึ้นคือกลไกที่รักษาอํานาจการเมืองและเศรษฐกิจให้อยู่ในมือต่อไป ให้ชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาล ขจัดคู่แข่งทางการเมือง ใช้อํานาจการเป็นรัฐบาลหาประโยชน์ และปกป้องคนในเครือข่ายจากการทําผิดมากกว่าที่จะทําเพื่อส่วนรวม สิ่งเหล่านี้เอื้อให้การทุจริตคอร์รัปชันเติบโต ขณะเดียวกันก็ทําให้ระบบการตรวจสอบ การบังคับใช้กฎหมาย และธรรมาภิบาลในประเทศอ่อนแอ

ด้วยเหตุนี้ในประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรง เราจึงเห็นการทุจริตคอร์รัปชันมีมากในทุกระดับของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น หนึ่ง ระดับการบริหารราชการปกติโดยข้าราชการที่มีการรั่วไหลในการใช้จ่ายตามงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้าง สอง การใช้อำนาจในตําแหน่งหน้าที่ราชการของนักการเมืองและข้าราชการหาประโยชน์ เช่น ระบบส่วยต่างๆ และการผ่องถ่ายสินทรัพย์และสมบัติของหลวงมาเป็นของตนหรือพรรคพวก สาม คอร์รัปชันเชิงนโยบายที่นักการเมืองที่เป็นรัฐบาล นักธุรกิจ และข้าราชการประจำ ร่วมกันหาประโยชน์โดยการทํานโยบายหรือทำโครงการที่ในที่สุดสร้างความเสียหายให้กับประเทศ และความเสียหายจะมีมากในประเทศที่กลุ่มอีลีททางการเมือง และกลุ่มอีลีททางเศรษฐกิจมีความใกล้ชิดกัน เพราะจะช่วยปกป้องซึ่งกันและกัน

ความเสียหายจากคอร์รัปชันต่อเศรษฐกิจมีมาก เพราะคอร์รัปชันเพิ่มต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ ทําลายแรงจูงใจในระบบเศรษฐกิจ ทําลายการแข่งขัน สร้างความไม่เป็นธรรม ลดแรงจูงใจที่ภาคธุรกิจจะลงทุนและผลิตนวัตกรรม ทําให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง การลงทุนลดลง มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและการจ้างงาน ผลคือความเป็นอยู่ของคนในประเทศไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่ความเหลื่อมลํ้าในระบบเศรษฐกิจรุนแรงมากขึ้น เพราะคนส่วนน้อยได้ประโยชน์จากคอร์รัปชันแม้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่จะไม่ค่อยถูกจับหรือเอาผิดยากเพราะการดูแลช่วยเหลือกันของเครือข่าย ทําให้ความกล้าที่จะทุจริตและไม่เกรงกลัวกฎหมายมีมาก การทุจริตจึงโจ่งแจ้งและเกิดขึ้นกว้างขวางอย่างที่เห็นในบางประเทศ เกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ของสังคมที่รับรู้และยอมกับการคอร์รัปชันที่นำประเทศไปสู่หายนะ

คําถามคือ แม้จุดจบคือความหายนะของประเทศถ้าการทุจริตคอรรัปชันมีต่อเนื่องเพราะในทุกประเทศทรัพยากรมีจํากัด แต่ทําไมกลุ่มอีลีทของประเทศทั้งการเมืองและเศรษฐกิจที่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างอํานาจไม่ยอมทําอะไรที่จะลดหรือแก้ปัญหา เหมือนพร้อมที่จะให้ประเทศล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา

เรื่องนี้คงไม่มีใครตอบได้เพราะไม่มีใครรู้ว่ากลุ่มอีลีทในแต่ละประเทศคิดอย่างไร แต่ที่พอจะเป็นแนวคําตอบได้ก็คือผลงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลสามคนปีนี้ คือ อารอน อาเซโมกลู, ไซมอน จอห์นสัน และเจมส์ โรบินสัน ที่สรุปว่าระบบสถาบันภาครัฐที่ไม่ดีและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ หมายรวมถึงระบบภาครัฐที่การทุจริตคอร์รัปชันมีมาก จะอยู่ไม่ได้ในที่สุด จะมีระบบใหม่เข้ามาแทนที่ เพราะความเดือดร้อนที่มาจากระบบภาครัฐที่ไม่ดีจะทําให้ประชาชนในประเทศไม่พอใจและต้องการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นช้าเพราะผู้มีอำนาจคือกลุ่มอีลีทไม่ยอมเสียหรือแชร์อํานาจเพราะกลัวสูญเสียสิ่งที่มี แต่ในที่สุดการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น เพราะประชาชนมีจํานวนมากกว่ากลุ่มอีลีท ทำให้กลุ่มอีลีทต้องยอมรับความจริง ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดการสูญเสียจากความไม่สงบที่อาจเกิดขึ้น

ในภูมิภาคเอเชียมีหลายประเทศที่เคยมีปัญหาคอร์รัปชันแต่ก็สามารถแก้ไขและนําประเทศไปสู่การเจริญเติบโตที่ดีได้ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ จึงชี้ว่าการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ทําได้ และสิ่งหนึ่งที่สี่ประเทศนี้ทําเหมือนกันในการแก้คอร์รัปชันคือ ทำให้ระบบการบังคับใช้กฎหมายของประเทศเข้มแข็ง สามารถนําบุคคลระดับนําของประเทศที่ทุจริตคอร์รัปชัน เช่น ประธานาธิบดี ขึ้นศาลและจําคุกได้ สนับสนุนด้วยการปฏิรูปการทํางานของภาคราชการ ส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจ และสนับสนุนบทบาทที่เข้มแข็งของภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน

เฉพาะในกลุ่มอาเซียน ขณะนี้มีหลายประเทศที่เลือกที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ไม่เสี่ยงที่จะไม่ทําอะไรและยอมให้ประเทศล่มสลายไปกับคอร์รัปชัน เช่น มาเลเซีย ที่แสดงความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมาย นําอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหากรณีทุจริตคอร์รัปชันขึ้นศาลจําคุก ทําให้อันดับของมาเลเซียในดัชนีการรับรู้การทุจริตดีขึ้นเป็นอันดับที่ 57 ของเวียดนามก็เช่นกัน อันดับดีขึ้นเป็น 83 เพราะความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมาย ที่นํานักธุรกิจหญิงระดับอีลีทในภาคอสังหาริมทรัพย์ลงโทษกรณีทุจริตคอร์รัปชัน ส่วนอินโดนีเซีย อันดับอยู่ที่ 115 ก็แสดงความจริงจังในการทําหน้าที่ของหน่วยงานปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่กําลังเกิดขึ้น

ตรงกันข้าม อันดับของประเทศไทยแย่ลงตลอด ล่าสุดอยู่ที่ 108 เพื่มขึ้นจากปีก่อน แสดงถึงความไม่สนใจของผู้มีอํานาจที่จะจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง หรือหยุดที่จะใช้อํานาจที่เอื้อหรืออาจนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งถ้าไม่หยุดหรือไม่แก้ไข คอร์รัปชันในประเทศเราก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นไปอีก และเสี่ยงมากที่จะนําประเทศไปสู่ความหายนะในที่สุด

ขณะนี้เวลายังมีที่จะแก้ปัญหา จึงควรเริ่มแก้ไขจริงจัง อย่าปล่อยให้ประเทศล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา.

เขียนให้คิด

ดร บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]

เพิ่มเพื่อน