เงินบาทยังคงอ่อนค่า โดยทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือนที่ 35.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์
16 พ.ย. 2567 – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาททยอยอ่อนค่าลงตามภาพรวมของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียและการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังคงแข็งค่าขึ้นท่ามกลางการประเมินของตลาดว่า นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ อาจส่งผลทำให้มีแรงกดดันต่อเนื่องไปที่เงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้เฟดชะลอจังหวะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ (CPI PPI และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์) ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด และถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ระบุถึงเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ยังอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมาย 2.00% ของเฟด ซึ่งสะท้อนว่า เฟดไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนตามแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชั่นหลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าลงมากในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่ในวันศุกร์ที่ 15 พ.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 พ.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 11-15 พ.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,278 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 9,380 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 8,580 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 800 ล้านบาท)
สำหรับสัปดาห์ระหว่างวันที่ 18-22 พ.ย. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.50-35.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สกุลเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนต.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และข้อมูลเบื้องต้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนี PMI เดือนพ.ย. นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามการประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอินโดนีเซีย รวมถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. และดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนพ.ย. ของยูโรโซนและอังกฤษ
ส่วนดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงเกือบตลอดสัปดาห์ท่ามกลางหลายปัจจัยลบ อาทิ ความกังวลต่อผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ (หลังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ) ประเด็นการเมืองในประเทศ แรงขายทำกำไรช่วงโค้งสุดท้ายของการประกาศงบไตรมาส 3/2567 รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟดซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดไม่จำเป็นต้องรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยยังสอดคล้องกับภาพรวมของตลาดหุ้นภูมิภาคด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นได้ช่วงสั้นๆ ระหว่างสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากผลประกอบการหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการใช้จ่ายในประเทศที่ออกมาค่อนข้างดี
ในวันศุกร์ที่ 15 พ.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,442.63 จุด ลดลง 1.51% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,329.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.97% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 4.20% มาปิดที่ระดับ 321.61 จุด
สัปดาห์ถัดไป (18-22 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,430 และ 1,415 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,460 และ 1,470 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 ของไทย (18 พ.ย.) ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนต.ค. ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ (เบื้องต้น) เดือนพ.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนต.ค. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนพ.ย. ของจีน ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ (เบื้องต้น) เดือนพ.ย. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดเฟดลดดอกเบี้ยลง 0.25%
ศูนย์วิจัยกสิกรฯประเมินผลประชุมเฟดรอบนี้จะลดดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 4.25-4.50% หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯออกมาใกล้เคียงตลาดคาดพร้อมคาดจะส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในปีหน้าไม่ถึง 4 ครั้งจากที่เคยส่งสัญญาณไว้เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา