ทอท.เร่งเครื่องไทยฮับการบินภูมิภาค จับมือ ‘Sister Airport‘ สนามบินยุโรเพิ่มอีก 3 แห่ง ดึงหวังเที่ยวบินแอร์ไลน์ทั่วโลกเข้าไทย ดันผู้โดยสารถ่ายลำ/เปลี่ยนลำในไทย ปีหน้าตั้งเป้า5%
15พ.ย.2567-พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงอภิปราย AOT Sister Airport CEO Forum 2024 ภายใต้หัวข้อหลัก “Embracing the Next Chapter in Aviation Industry” ก้าวสู่บทใหม่ของอุตสาหกรรมการบิน วันนี้ (13 พ.ย. 2567) ว่า การประชุมในครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอความพร้อมของท่าอากาศยานไทยในการก้าวไปสู่การพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและท่องเที่ยวในภูมิภาค ที่ให้ความสำคัญในด้านนวัตกรรม และการเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ยังเดินหน้าพัฒนาท่าอากาศยานให้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติ ไปจนถึงแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ความคาดหวังของผู้โดยสารที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการจัดประชุมร่วมกับเครือข่าย Sister Airport ในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันในมุมมองที่หลากหลายเพื่อนำไปพัฒนาแต่ละท่าอากาศยานต่อไปโดย ทอท. ยืนยันว่า มุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้โดยสาร โดยมั่นใจว่า จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ และประเทศชาติต่อไป
ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า การประชุมเชิงอภิปราย AOT Sister Airport CEO Forum 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของท่าอากาศยานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement: SAA) รวม 18 แห่ง กับ ทอท. และผู้บริหารองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) สภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (ACI) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) สายการบิน หน่วยราชการ รวมทั้งผู้บริหารและพนักงาน AOT เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
ทั้งนี้ เป็นการจัดงานประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี เพื่อเป็นเวทีให้ผู้บริหารระดับสูงของ Sister Airport ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ มุมมองด้านการบริหารจัดการท่าอากาศยานจากท่าอากาศยานระหว่างประเทศชั้นนำ รวมถึงแบ่งปันข้อมูลที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ ในการนำมาบริหารท่าอากาศยานให้เป็นเลิศต่อไป ซึ่งการจัดงานประชุมฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “Embracing The Next Chapter in Aviation Industry” เพื่อแสดงแนวโน้มอนาคตของอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศในการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมกันในเชิงบูรณาการเพื่อยกระดับการดำเนินงานและพัฒนาอุตสาหกรรมการบินด้วยความยั่งยืน อีกทั้ง ท่าอากาศยานภายใต้เครือข่าย SAA ซึ่งล้วนแต่เป็นท่าอากาศยานชั้นนําระดับโลกที่ประสบความสําเร็จ จะร่วมถ่ายทอดประสบการณ์แนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด ที่สามารถนำมาปรับใช้กับท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ของ ทอท. ได้ และยังเพิ่มโอกาสในการขยายพันธมิตรทางธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 ทอท. เตรียมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน เพิ่มเติมอีก 3 ท่าอากาศยาน ได้แก่ 1.ท่าอากาศยานนานาชาติเวียนนา 2.ท่าอากาศยานนานาชาติมิลานมัลเปนซา และ 3.ท่าอากาศยานนานาชาติเซาท์เบนด์ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือ ก่อนลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ต่อไป ทั้งนี้ การผนึกกำลังระหว่าง ทอท. กับ 3 ท่าอากาศยานดังกล่าวนั้น เนื่องจาก ทอท. ต้องการดึงผู้โดยสารชาวยุโรปมาประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดย ทอท. จะแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ของทั้ง 3 ท่าอากาศยานถึงแนวทางการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงเจรจาร่วมสายการบินต่างๆ เพื่อให้เปิดเส้นทางการบินจากกลุ่มประเทศยุโรปมาประเทศไทยมากขึ้นด้วย
สำหรับการจะผลักดันให้ ทสภ. เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สำเร็จ อยู่ที่จำนวนผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศที่มีผู้โดยสารถ่ายลำ หรือเปลี่ยนลำ (Transit/Transfer) ซึ่งตัวเลขปัจจุบันของ ทสภ. ปริมาณผู้โดยสารกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 4% ของผู้โดยสารทั้งหมด และกำลังทยอยเพิ่มขึ้นจากการเจรจากับสายการบินต่างๆ อาทิ กลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของสายการบินชั้นนำ และใหญ่ที่สุดในโลก โดยการจะเป็นฮับการบินได้นั้น ต้องมีตัวเลขผู้โดยสาร Transit/Transfer ประมาณ 20% ซึ่งท่าอากาศยานชางงี ประเทศสิงคโปร์ ตัวเลขผู้โดยสารกลุ่มนี้อยู่ที่ 40% อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 68 ตัวเลขผู้โดยสาร Transit/Transfer ของ ทสภ. จะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 5% และจะพยายามผลักดันให้ถึง 20% ภายใน 5 ปี หรือประมาณปี 72