หมอเตือน! คนวัยทำงานอายุ 30+ ระวังเบาหวานขึ้นจอตา ภัยเงียบที่คุกคามสายตาจากโรคเบาหวาน

เนื่องในวันเบาหวานโลก ปี 2567 จักษุแพทย์เตือนคนไทยวัยทำงานหมั่นตรวจเช็คสุขภาพตาเป็นประจำ หลายคนมักมองข้ามสัญญาณเตือนเล็กๆ น้อยๆ ของปัญหาสุขภาพตา เพราะคิดว่าอายุยังน้อย การไม่ดูแลสุขภาพโดยเฉพาะการรับประทานอาหารโดยไม่ควบคุมและดูแลเรื่องระดับน้ำตาล เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่โรคเบาหวาน และมีโอกาสพัฒนาไปสู่ “ภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตา” เสี่ยงตาบอดถาวรโดยไม่รู้ตัว

15 พ.ย. 2567 –  สำหรับภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Macular Edema หรือ DME) เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง ทำให้เส้นเลือดที่อยู่ในชั้นจอประสาทตามีความผิดปกติ ส่งผลให้จุดรับภาพจอตาบวม โรคนี้พบได้ในทุกช่วงอายุ จากสถิติพบว่า ปัจจุบันในประเทศไทยพบอุบัติการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 3 แสนคนต่อปี และปัจจุบันมีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปที่เป็นโรคเบาหวานถึง 6.9 ล้านคน โดยคนไทยอายุ 30 – 60 ปี มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานถึง 12% ที่น่าวิตกกว่านั้นคือ โรคเบาหวานในทุกอายุมีโอกาสพัฒนาเป็นภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตา (DME) ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการสูญเสียการมองเห็นในผู้ป่วยเบาหวาน โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่รู้ตัวว่ามีภาวะดังกล่าว เนื่องจากอาการมักไม่แสดงชัดเจนในช่วงแรก

ด้วยเหตุนี้ การตรวจคัดกรองและการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยลดความเสี่ยงในการพัฒนาเป็นโรค DME อีกทั้งยังช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้ นายแพทย์ธนาพงษ์ สมกิจรุ่งโรจน์ จักษุแพทย์ด้านจอตาและม่านตาอักเสบ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า “สถานการณ์ภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตาในประเทศไทยกำลังน่าเป็นห่วง จากการศึกษาพบว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตา ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันและอาจเกิดกับตาข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ โดยที่ผู้ป่วยบางรายอาจไม่รู้สึกเจ็บหรือปวดบริเวณดวงตา และหากสังเกตุจากภายนอกก็อาจไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติของดวงตา ด้วยเหตุนี้ โรคทางสายตาจึงถือเป็นภัยเงียบ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจว่าการมองเห็นไม่ชัดเป็นผลจากค่าสายตาที่เปลี่ยนไป”

กรณีของ นางสาวอัจฉรา เซ่งฮะ นักธุรกิจ วัย 51 ปี เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง “ดิฉันเป็นอดีตพนักงานธนาคาร ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาการเงินและทำธุรกิจของตัวเอง สมัยก่อนไม่เห็นคุณค่าของการออกกำลังกาย และใช้ชีวิตไม่ค่อยดูแลตัวเองเท่าไหร่ เพราะคิดว่าอายุน้อยคงไม่เป็นไร ใช้ชีวิตเต็มที่สะสมมานานกว่า 20 ปี จนกระทั่งตรวจเจอว่า เป็นเบาหวานมามากกว่า 3 ปี แต่ไม่เคยคิดว่าจะส่งผลกระทบกับดวงตา ต่อมาเริ่มมีอาการมีเส้นเหมือนใยแมงมุมเกิดขึ้นที่ตา พอไปพบหมอถึงรู้ว่าตามีปัญหาเกิดจากภาวะเบาหวานระยะที่สาม หากเกินขั้นนี้ไป คือตาบอดค่ะ”  

การรักษาภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตาในประเทศไทยมีวิวัฒนาการดีขึ้นจากเมื่อก่อ โดย นพ. ธนาพงษ์ สมกิจรุ่งโรจน์ อธิบายว่า “เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทางการรักษาหลักของโรคทางจอประสาทตา รวมถึงภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตาจะเป็นการใช้เลเซอร์ ซึ่งช่วยชะลอโรคได้ แต่ไม่ช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นมาก ต่อมามีการพัฒนาเป็นยาฉีดเข้าน้ำวุ้นตาที่ยับยั้ง VEGF (Anti-VEGF) ช่วยลดการงอกของเส้นเลือดที่จอประสาทตา ทำให้การมองเห็นดีขึ้น แต่ต้องฉีดบ่อยทุก 1-2 เดือน ซึ่งสร้างภาระให้ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ห่างไกลโรงพยาบาลหรือต่างจังหวัด ที่ผู้ดูแลต้องลางานพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลบ่อยๆ ปัจจุบัน ยาฉีดเข้าไปในน้ำวุ้นลูกตามีการพัฒนามากขึ้น มีนวัตกรรมใหม่ที่ยับยั้งสองกลไกของการเกิดโรค คือ ยับยั้งทั้ง VEGF และ Ang-2  (Anti Ang-2/VEGF) ช่วยทั้งลดการงอกและการรั่วของเส้นเลือด ลดการอักเสบ และเพิ่มความแข็งแรงของเส้นเลือด ออกฤทธิ์ได้นานขึ้น

ทั้งนี้ จากงานวิจัย พบว่าประมาณ 80% ของผู้ป่วยฉีดยาที่ยับยั้งสองกลไก (Anti Ang-2/VEGF) เพียงหนึ่งครั้งใน 3 เดือน และประมาณ 60% ฉีดเพียงหนึ่งครั้งใน 4 เดือน คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจึงก็ดีขึ้นกว่าเดิม   และจากการวิจัยทางคลินิก ในผู้ป่วยกว่า 3,200 ราย และการรักษาจริงกว่า 4,000,000 เข็มทั่วโลก ไม่พบผลข้างเคียงที่แตกต่างจากยาเดิม ขณะเดียวกันจากสถิติพบว่า ในผู้ป่วยที่มีภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตา หากไม่ได้รับการรักษา  20-30% ของผู้ป่วยจะสูญเสียการมองเห็น ดังนั้น การวินิจฉัยที่เร็วและเริ่มการรักษาทันทีจึงเป็นสิ่งสำคัญ

“ผู้ที่มีภาวะจุดรับภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอตาหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ ควรปรับพฤติกรรมและควบคุมโรคประจำตัวให้ดี โดยเฉพาะการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม, ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด, งดการสูบบุหรี่ และควรต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องตามการนัดของแพทย์ นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรหมั่นตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อการวินิจฉัยที่เร็วและเริ่มการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดการสูญเสียการมองเห็น เพราะการมองเห็นที่ชัดเจนเป็นส่วนสำคัญยิ่งกับคุณภาพชีวิต” นพ. ธนาพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

เพิ่มเพื่อน