'ขุนคลัง' โอดลงทุนหาย-หนี้พุ่งกดศก.อืด กางบัญชีรัฐเหลือช่องกู้3ล้านล้านใน4ปี

‘ขุนคลัง’ โอดลงทุนหาย-เงินเฟ้อแผ่ว-หนี้พุ่ง กดเศรษฐกิจไทยโตอืด เคาะจีดีพีปีนี้เหลือ 2.7% กางบัญชีรับรัฐบาลเหลือช่องกู้เงินดันเศรษฐกิจแค่ 3 ล้านล้านบาท ใน 4 ปี เฉลี่ยปีละ 7.5 แสนล้านบาท แนะเร่งเพิ่มทักษะแรงงาน เดินเครื่องเศรษกิจสีเขียว และลดข้อจำกัดสนับสนุนลงทุน หวังช่วยเข็นจีดีพีโตได้ 3.5%

13 พ.ย. 2567 – นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Navigating Economic Challenges : The Future of Fiscal Policy ฝ่าพายุเศรษฐกิจไทยด้วยนโยบายการคลัง” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาการลงทุนลดลงเหลือไม่ถึง 20% ของจีดีพี จากก่อนหน้านี้ที่ 40% ของจีดีพี ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจลดลง โดยตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 1.9% เท่านั้น ขณะที่ในปี 2567 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ที่ 2.7% ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 0.7-0.8% เท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงาน และสะท้อนไปยังสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับสูงที่ 89-90% ของจีดีพี โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ ซึ่งยอมรับว่ามีความน่าเป็นห่วง ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็กำลังประสบปัญหา มีหนี้อยู่ในระดับสูง เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลให้รัฐจำเป็นต้องเร่งนำงบประมาณมาอุดหนุน จุนเจือ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ ปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ราว 65-66% ของจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 12 ล้านล้านบาท ขณะที่มูลค่าจีดีพีของประเทศอยู่ที่ 18-19 ล้านล้านบาท จากเพดานหนี้ที่ 70% ของจีดีพี สะท้อนว่าพื้นที่ทางการคลังของรัฐบาลมีอยู่ค่อนข้างจำกัด โดยรัฐบาลยังเหลือความสามารถในการกู้เงินเพิ่มเพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ เพิ่มการลงทุนได้อีกราว 3-4% เท่านั้น คิดเป็นวงเงินที่ 3 ล้านล้านบาท ภายใน 4 ปี หรือเฉลี่ยรัฐบาลสามารถกู้เพื่อชดเชยขาดดุลได้ปีละ 7.5 แสนล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องเร่งผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3.5%

“การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล จำเป็นจะต้องคำนึงถึงวินัยทางการคลังให้มากขึ้น เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงินเยอะ สร้างหนี้เยอะ ก็ต้องสร้างวินัยด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเราตั้งกติกาว่าหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 70% ของจีดีพี แต่วันนี้หนี้สาธารณะมาที่ 65-66% แล้ว โอกาสในการจะกู้เงินเพิ่มในอีก 4 ปีข้างหน้าก็เหลือน้อยลง คือรัฐจะมีหนี้เพิ่มได้อีก 3 ล้านล้านบาทเท่านั้น โดยหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 15 ล้านล้านบาท ภายใน 4 ปี โดย เมื่อมองไปข้างหน้าหากรัฐและเอกชนทำงานร่วมกัน ก็อยากจะเห็นว่าช่วยกันทำให้จีดีพีขยับขึ้นไปเป็น 3-3.2% ได้ อัตราเงินเฟ้อน 2% หรือมากกว่า แม้ผมจะตั้งกรอบไว้ในใจที่ 1.2-1.8% ซึ่งหากทุกฝ่ายช่วยกันก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสภาพคล่องจำนวนมาก แต่ไม่มีการลงทุน ตรงนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทุกคนทราบดี ไทยจึงเหมือนเศรษฐี ฐานะดีแต่ไม่เห็นอนาคต เพราะไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะเดินไปทางไหน ตอนนี้คือการกินบุญเก่า แต่เมื่อวันหนึ่งก็ต้องหมดเวลา แม้ภาพการส่งออกจะยังเป็นเครื่องยนต์ที่ทำงานผลักดันเศรษฐกิจได้ แต่หากยังเป็นการส่งออกในรูปแบบเก่า เทคโนโลยีเดิม ๆ ไม่มีการลงทุนใหม่ เทคโนโลยีใหม่ เครื่องจักรใหม่ ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหา ดังนั้นที่ผ่านมารัฐบาลจึงเร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการลงทุน ทั้งการเดินหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การดูแลต้นทุนพลังงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการโดยบรรจุไว้ในแผนงบประมาณ คือ 1. การเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ 2. การเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจสีเขียว หรือพลังงานสีเขียว และ 3. การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุน รวมถึงยังต้องวางระบบการออมเงินในประเทศ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งปัจจุบันผู้สูงวัยยังไม่มีเงินออมรองรับจำนวนมาก ตลอดจนลดระบบการทำงานที่ซ้ำซ้อนของภาครัฐ ปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษี เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนต่าง ๆ เช่น เอนเตอร์เทนเม้นคอมเพล็กซ์ โดยต้องสร้างจุดไฮไลท์ในการท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้เงินมากขึ้น การวางแผนระบบน้ำ การลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่าง ๆ โดยการดำเนินการทั้งหมดจะต้องใช้งบประมาณภาครัฐอย่างจำกัด ดังนั้นการใช้เงินในส่วนนี้ก็ต้องมาจากอินฟาสตรัคเจอร์ฟันด์ เป็นหลัก

เพิ่มเพื่อน