‘พิชัย’ ประชุมร่วมผู้บริหารพาณิชย์ ติดตามการทำงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล สั่งปรับแผนงานพาณิชย์ให้สอดคล้อง ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ พร้อมทำแผนรับมือ ‘ทรัมป์’ คัมแบ็กประธานาธิบดีสหรัฐฯ คาดไทยส่งออกได้มากขึ้น มีโอกาสดึงลงทุน ย้ำเดินหน้าขยายตลาด เร่งปิดดีลเจรจา FTA
7 พ.ย. 2567 – นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามนโยบายและขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาล พร้อมด้วยนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ 58 แห่ง และพาณิชย์จังหวัด 72 จังหวัด ว่า วันนี้เป็นการประชุมติดตามและขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการไว้ ทั้งภารกิจในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่สอดคล้องกับ 10 นโยบายการทำงานที่ได้มอบไว้ตอนเข้ามารับตำแหน่ง ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค
“การทำงานตามนโยบายทั้ง 10 ข้อ มีความคืบหน้าทุกด้าน ต้องขอขอบคุณข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ทุกท่านที่ทำงานอย่างหนักตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ทั้งภารกิจในประเทศและต่างประเทศ จากนี้ ยังต้องทำงานต่อไป เพื่อดูแลเกษตรกร ให้ขายสินค้าเกษตรได้ราคาดี ดูแลค่าครองชีพให้กับผู้บริโภค และสร้างโอกาสด้านการค้าการลงทุนให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งได้มอบหมายให้ทีมพาณิชย์ ทั้งส่วนกลาง ทูตพาณิชย์ และพาณิชย์จังหวัดทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป”
นายพิชัย กล่าวว่า ยังได้วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจการค้า และเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ หลังคาดว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เบื้องต้น เชื่อว่าไทยจะได้ประโยชน์ แต่ต้องวางจุดยืนให้ดี โดยในอดีต ช่วงเกิดสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น และคาดว่า หากเกิดสงครามการค้าอีก ไทยจะยังสามารถเพิ่มการส่งออกไปสหรัฐฯ ได้มากขึ้น และไม่น่ากังวลกรณีไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพราะถ้ามีประโยชน์แลกเปลี่ยนกัน เช่น ให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ก็จะไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งจะเห็นการลงทุนจากสหรัฐฯ เข้ามามากขึ้น อาทิ ซีเกท , Western Digital และมีเรื่อง Food Security , Data Center และ PCB ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ
ส่วนกรณีจีนที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้ และอาจหันมาส่งออกยังประเทศต่าง ๆ และส่งออกมาไทยเพิ่มมากขึ้น ไทยมีคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ที่ตั้งโดยนายกรัฐมนตรี และมีตนเป็นประธานอยู่แล้ว จึงไม่น่าห่วง เพราะคณะกรรมการชุดนี้ กำลังทำงานอย่างเข้มข้นในการป้องกัน และแก้ไขปัญหานี้
ส่วนการหาตลาดการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ จะเดินหน้าเจรจาการค้ากับประเทศต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยตนจะบินไปเปรู เพื่อประชุมเอเปกพร้อมกับนายกรัฐมนตรี คงได้มีการเจรจากับหลายประเทศ และจะมุ่งเจรจา FTA โดยมีแผนเซ็นสัญญา FTA กับเอฟตา (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป) กับ 4 ประเทศ ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง และจะเซ็นไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ วันที่ 25-27 พ.ย.2567 สหรัฐฯ จะนำทัพนักธุรกิจเข้ามา ซึ่งไทยต้องวางจุดยืนที่เป็นอยู่อย่างนี้ ส่งผลให้จีนก็รัก เรา อเมริกาก็รัก รัสเซียก็รัก ตะวันออกกลางก็รัก ไทยไม่ต้องเลือกข้าง โดยไทยอยากจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์ของอาเซียน ที่ทุกประเทศดีใจและพอใจที่จะมาอยู่กับไทย จากที่ขาดโอกาสเรื่องนี้มาเป็น 10 ปี การลงทุนข้ามจากไทยไปเวียดนามหมด แต่เชื่อว่าอนาคตจะมีการมาลงทุนมากขึ้น ส่งผลดีต่อการส่งออก ที่จะโตเกิน 4-5% ทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตเกิน 4-5%ได้