‘คลัง’ จับตานโยบาย ‘ทรัมป์’ หวั่นสงครามการค้าเดือด ฉุดเศรษฐกิจจีนชะลอ กระทบส่งออก-ท่องเที่ยวไทย บาทผันผวน-FDI ชะลอ เกาะติดเฟดลุ้นขยับดอกเบี้ยรับมือเงินเฟ้อ ดันเงินทุนไหลออก แนะเร่งปรับตัว ลดพึ่งพาสหรัฐฯ-จีน มองหาตลาดส่งออกใหม่ เดินหน้านโยบายเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ จับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสะอาด
7 พ.ย. 2567 -นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน เป็นผู้ชนะและครองตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นสมัยที่ 2 นั้น สศค.ได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จากแนวนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ไว้เบื้องต้นแล้ว โดยประเมินว่า การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐ อาจจะได้รับผลกระทบ และไทยอาจต้องหาตลาดใหม่ หรือขยายตลาดในประเทศอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายการคุ้มครองของสหรัฐฯ
ขณะเดียวกันมองว่าจากปัญหาสงครามการค้าที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับไทย และอาจทำให้ความต้องการสินค้าไทยในภูมิภาคลดลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจกระทบต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยด้วย รวมทั้งสหรัฐฯ อาจลดการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศ ทำให้ไทยอาจได้รับการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯ (FDI) น้อยลง โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่หรือโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและพลังงานสะอาด ส่วนค่าเงินบาทจะผันผวนและอ่อนค่าลงซึ่งจะเพิ่มต้นทุนนำเข้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่ไทยยังต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ ส่วนอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Vields) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดพันธบัตรไทยไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น
นอกจากนี้ มองว่ามีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่คาด หรืออาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อจากการดำเนินนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้อาจจะได้เห็นเงินทุนไหลออกจากประเทศเกิดใหม่ เช่น ไทย และเกิดการย้ายฐานการผลิตกลับไปในสหรัฐฯ แทน ส่วนอุตสาหกรรมทไยที่พึ่งพาวัตถุดิบจากสหรัฐฯ ก็อาจจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น
“การชนะการเลือกตั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์นั้น อาจจะเป็นผลทำให้ตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี หากนายโดนัลด์ ทรัมป์สามารถสร้างนโยบายที่ชัดเจนก็น่าจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายพรชัย กล่าว
ทั้งนี้ ท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาสของเศรษฐกิจไทยต่อนโยบายการบริหารประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ โดยมองว่าไทยมีโอกาสดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกันการกีดกันสินค้าจากจีน อาจเพิ่มความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารจากไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารแช่แข็ง ซึ่งถือเป็นโอกาสที่สำคัญ รวมถึงไทยยังสามารถขยายการลงทุนและส่งออกในกลุ่มสินค้าพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายพรชัย กล่าวอีกว่า ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทย ควรปรับตัวและเตรียมพร้อมเพื่อรับมือความท้าทายดังกล่าวที่จะเกิดขึ้น โดยเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่เพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐฯ และจีน มุ่งเน้นขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น อาหารสุขภาพและผลิตภัณฑ์เกษตรคุณภาพสูง รวมทั้งเร่งส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสะอาด เพื่อตอบสนองตลาดโลกที่ต้องการสินค้าคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีคาร์บอนเครดิตซึ่งสามารถใช้ในธุรกิจส่งออกและสร้างรายได้ให้กับประเทศ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพแรงงานที่มีทักษะสูง โดยเน้นที่ทักษะเทคโนโลยีชั้นสูงและการผลิตอัตโนมัติ จะช่วยให้ไทยมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนและสร้างโอกาสในการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาค
อย่างไรก็ดี สศค. ยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวที่ระดับ 3% โดยยังไม่ได้นำปัจจัยนโยบายด้านการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าไปสู่การประเมิน เนื่องจากมองว่าแม้สหรัฐจะเร่งผลักดันมาตรการด้านเศรษฐกิจออกมา ก็น่าจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในทันที โดยน่าจะเริ่มเห็นผลในช่วงไตรมาส 1-2/2568 จึงจำเป็นต้องรอดูผลกระทบจากมาตรการด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยว่าจะมาในมิติไหน