แก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟเชื่อม 3 สนามบินยังไม่มีวาระเข้า ครม.

'สุริยะ' เผย สัปดาห์หน้ายังไม่ชงแก้สัญญาสัมปทานรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เข้าครม. ระบุ ต้องดูรายละเอียด-ข้อกฏหมาย ให้เรียบร้อยก่อน

07 พ.ย.2567 - นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเสนอแก้สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ( ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า คาดว่าจะยังไม่มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 12 พ.ย.นี้ เพราะต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบก่อน ส่วนสาเหตุที่ล่าช้าอยู่นั้น ตนคิดว่าหลักๆ การแก้ไขครั้งนี้คือ การไปเปลี่ยนหลักการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนหรือ PPP ที่เคยมีอยู่หรือไม่ ต้องไปเช็คดูให้ชัดเจนก่อน และไม่ได้ติดปัญหาความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะสามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมครม. ภายในเดือน พ.ย. หรือ ธ.ค.นี้ได้หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า ต้องทำกระบวนการเหล่านี้ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เมื่อเสร็จแล้วถึงจะเสนอสู่ที่ประชุม ครม.ได้

เมื่อถามว่า การแก้ไขสัญญานี้จะส่งผลให้การก่อสร้างถูกยืดระยะเวลาออกไปอีกหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า หลักการแก้ไขสัญญานี้ เป็นการแก้ไขสัญญาของ PPP เดิม ที่ระบุว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้วรัฐค่อยจ่าย แต่ต้องเปลี่ยนหลักการว่า สร้างไปจ่ายไป โดยให้เอกชนนำเงินทุนมาวางค้ำประกัน ดังนั้น ต้องดูว่าขัดหลักการของ PPP หรือไม่ แต่ขอย้ำว่าการแก้ไขสัญญา 3 สนามบิน มีเหตุผลมาจากเอกชนไม่สามารถทำตามสัญญาที่จะต้องจ่ายเงินโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ให้กับรัฐบาลตามที่เวลาที่กำหนด แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ไม่สามารถดำเนินการส่งพื้นที่ให้เอกชนได้ และเมื่อต่างฝ่ายต่างผิดสัญญา ต้องหาทางออกว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ โครงการนี้ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เดินต่อไปได้ จึงต้องมาคุยกันเพื่อแก้ไขสัญญานี้ โดยต้องมีนักกฎหมาย และฝ่ายต่างๆเข้ามาดูว่าทางรัฐจะไม่เสียเปรียบ ซึ่งนั่นคือหลัก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เสี่ยหนู' เชียร์ 'พรรคโอกาสใหม่' ชี้มาทำงานให้บ้านเมืองอย่าไปแช่ง

'อนุทิน' เชียร์ 'พรรคโอกาสใหม่' บอกจะได้ชอบธรรมหากได้รับเลือกจากประชาชนทั้งประเทศ ขออย่าแช่งคนเข้ามาทำงานให้บ้านเมือง

'อนุทิน' ยันภูมิใจไทยโหวตเสียงข้างมาก 2 ชั้นในการทำประชามติ

'อนุทิน​' ยืนยัน​ ภท.​โหวต​เสียงข้างมาก 2 ชั้น หากนำมติ กมธ.ร่วมประชามติ​เข้าโหวตในสภา​ ย้ำเพื่อให้ ​ปชช.​ตัดสินใจเรื่องสำคัญอย่างแท้จริง​ ชี้ทุกอย่างมีเงื่อนเวลาถ้า​แก้ไม่ทันก็รอสภาชุดหน้า​ ​