รฟท.เร่งเครื่องให้ 'SRTA' ลุยปั้นรายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์

‘การรถไฟฯ’ ได้ฤกษ์ส่งมอบสัญญาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ 12,233 สัญญา ให้’SRTA’บริหารจัดการทรัพย์สิน ปักธงปีหน้าดันรายได้เพิ่ม 5,000  ล้านใน มั่นใจ 4 ปี รายได้ถึง 2 หมื่นล้าน

6 พ.ย.2567-นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการส่งมอบแฟ้มสัญญาเช่า และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้กับ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ในฐานะบริษัทลูกของ รฟท. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพย์สินของ รฟท. และก่อให้เกิดรายได้สูงสุดแก่องค์กร โดย รฟท. ได้ส่งมอบแฟ้มสัญญาเช่า12,233 สัญญา

สำหรับสัญญาเช่า 12,233 สัญญา ประกอบด้วย 1.สัญญาฝ่ายบริหารทรัพย์สิน 5,856 สัญญา 2.สัญญาฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ 6,369 สัญญา และ 3. สัญญาฝ่ายอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม 8 สัญญา บนพื้นที่กว่า 38,469 ไร่ ซึ่ง SRTA จะนำไปบริหารจัดการสัญญาเช่า ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดนี้ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. รวมทั้งจะต้องจัดสรรพื้นที่ และเจรจากับบุคคลที่สาม หรือร่วมทุนกับเอกชน เพื่อรับโอนพื้นที่ไปดำเนินการ และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายว่าการให้ SRTA เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ จะสามารถสร้างรายได้ให้ รฟท. เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 3,700 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านานบาทในปี 2568

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยรฟท.) กล่าวว่าโดยสินทรัพย์ทั้งหมดยังคงเป็นของการรถไฟฯ 100% แต่สามารถสร้างรายได้จากการบริหารทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เบื้องต้น SRTA ได้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ที่ดินแปลงใหญ่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ 28 แปลง ที่สามารถพัฒนาพื้นที่ และสร้างรายได้ให้แก่ รฟท.เป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกจะดำเนินการในปี 2568 จำนวน 7 แปลง

ทั้งนี้ประกอบด้วย 1.โครงการบางซื่อ-คลองตัน (RCA), 2.โครงการศิลาอาสน์แปลงย่อย, 3.โครงการตลาดคลองสาน, 4. โครงการสถานีราชปรารภ (แปลง OA), 5.โครงการถนนพหลโยธิน (หัวมุม อ.ต.ก.), 6.โครงการย่านบางซื่อ (แปลง A2) สถานีขนส่ง และ 7.โครงการย่านสถานีหนองคาย (แปลง 5) ส่วนระยะที่ 2 และ 3 จะดำเนินการในปี 2569–2572 ทั้งนี้ SRTA จะต้องแบ่งผลตอบแทนให้กับ รฟท. 5% ของรายได้จากค่าบริหารสัญญา

นอกจากนี้ พบว่า รฟท.มีรายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์เฉลี่ยปีละ 3,700 ล้านบาทเท่านั้น และหากปรับการบริหารสัญญาใหม่ ก็เชื่อว่าจะสร้างรายได้ให้กับ รฟท.เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท และหลังจากบริษัทลูกเข้ามาดำเนินการ คาดว่าจะสร้างรายได้กว่าปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท โดยมั่นใจว่าภายใน 4 ปี จะสามารถร้างรายได้ให้รฟท.กว่าปีละ 20,000ล้านบาทและล้างขาดทุนให้กับ รฟท. กว่าแสนล้านบาทได้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันที่ดินของการรถไฟฯ มีทั้งหมด 246,880 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ Core Business เป็นพื้นที่ย่านสถานี ที่ทำการ เขตทางรถไฟ จำนวน 201,868 ไร่ และพื้นที่ Non-Core Business ที่สามารถนำไปทำประโยชน์ได้ จำนวน 45,012 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ สามารถนำไปพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จำนวน 33,761 ไร่  โดยการส่งมอบแฟ้มสัญญาเช่า และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ในครั้งนี้ เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาสินทรัพย์ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพย์สินของการรถไฟฯ ให้เกิดรายได้และประโยชน์สูงสุดกับการรถไฟฯ อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

เพิ่มเพื่อน