ดีอี ระวังข่าวปลอม 'PEA' ส่ง SMS ให้ตรวจสอบสิทธิรับเงินคืนประกัน

ดีอี เตือน ข่าวปลอม “PEA ส่ง SMS ให้ตรวจสอบสิทธิรับเงินคืนประกันที่ www.การไฟฟ้าสำนักงานใหญ่.com” ขออย่าเชื่อ-แชร์ หวั่นสูญเงิน-ข้อมูลส่วนบุคคล

3 พ.ย. 2567 – นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 25-31 ตุลาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 832,483 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 398 ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 365 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 26 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 7 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 278 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 122 เรื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 113 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 38 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 19 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 26 เรื่อง

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 82 เรื่อง

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวเกี่ยวกับหน่วยงานรัฐ และนโยบายของรัฐ รวมทั้งข่าวที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคม สร้างความวิตกกังวล หรือความเข้าใจผิด และอาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลได้ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง PEA ส่ง SMS ให้ตรวจสอบสิทธิรับเงินคืนประกันที่ www.การไฟฟ้าสำนักงานใหญ่.com

อันดับที่ 2 : เรื่อง เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมบริเวณหน้าวัดพระแก้ว

อันดับที่ 3 : เรื่อง ผลิตภัณฑ์ Heaven Plus เพิ่มขนาดน้องชาย เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ มี อย. รับรอง

อันดับที่ 4 : เรื่อง PEA เปิดลงทะเบียนรับสิทธิคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า โดยกรอกข้อมูลผ่าน Google ฟอร์ม

อันดับที่ 5 : เรื่อง ประเทศไทยเตรียมรับมือแผ่นดินไหวรุนแรง หลังวันที่ 15 พ.ย. 67

อันดับที่ 6 : เรื่อง พายุจ่ามีขึ้นฝั่ง และจะไม่ลงน้ำทะเล สลายตัวในพรมแดนไทย-ลาว

อันดับที่ 7 : เรื่อง ไทยตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับลาว และกัมพูชา จึงได้ทำการส่งตัวแรงงานจากลาว และกัมพูชากลับประเทศ

อันดับที่ 8 : เรื่อง คลิกลิงก์รับเงิน Digital Wallet ได้ไวกว่าลงทะเบียนผ่านแอปทางรัฐ

อันดับที่ 9 : เรื่อง 14 วันนี้ ให้เฝ้าระวังและเตรียมรับมือน้ำท่วมภาคใต้

อันดับที่ 10 : เรื่อง ปวดหัวและฝ้าขึ้นชัด เกิดจากหลอดเลือดเริ่มไม่ดี ไหลเวียนไม่ถึงส่วนปลาย

“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐและโครงการของรัฐ 3 อันดับ และข่าวภัยพิบัติโดยเฉพาะะน้ำท่วม ถึง 4 อันดับ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความวิตกกังวล สำหรับข่าวที่เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงาน กฟภ. และข่าวเกี่ยวกับโครงการ Digital Wallet อาจทำให้ประชาชน ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ สร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลได้ ซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว

สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “PEA ส่ง SMS ให้ตรวจสอบสิทธิรับเงินคืนประกันที่ www.การไฟฟ้าสำนักงานใหญ่.com” พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยกระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA กระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นการแอบอ้างของมิจฉาชีพ โดย กฟภ.ไม่มีนโยบายส่งข้อความแจ้งทาง SMS ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าตรวจสอบสิทธิ์รับเงินคืนประกันผ่านทาง www.การไฟฟ้าสำนักงานใหญ่.com แต่อย่างใด โดยขอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าอย่าหลงเชื่อข้อมูลที่มีผู้แอบอ้างดังกล่าว ซึ่ง กฟภ.มีเว็บไซต์อย่างเป็นทางการเพียงเว็บไซต์เดียว คือ https://www.pea.co.th/ โดยประชาชนที่สนใจสามารถได้รับข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์ดังกล่าว หรือโทร. 02 5890100
ด้านข่าวปลอม อันดับ 2 “เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมบริเวณหน้าวัดพระแก้ว” พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยกระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบและชี้แจงว่า ข่าวและภาพที่อยู่ในสื่อออนไลน์ เป็นภาพเก่าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยประชาชนสามาถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ที่เว็บไซต์ www.onwr.go.th หรือ โทร. 02-554-1800

อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“รองนายกฯประเสริฐ” มอบนโยบาย สสส.สั่งด่วนยกระดับสร้างความปลอดภัยทางถนนในเด็กและเยาวชน 3 ด้าน “รถบัสปลอดภัย-สวมหมวกนิรภัย-ส่งเสริมวินัยจราจร”

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ สสส.

เตือน เพจปลอมโจรออนไลน์ 'กระทรวงยุติธรรม' หลงเชื่อมีสิทธิสูญเงิน

ดีอี เตือน เพจปลอมโจรออนไลน์ “กระทรวงยุติธรรมเปิดเพจเฟซบุ๊ก รับแจ้งความร้องทุกข์ออนไลน์” อย่าเชื่อ-แชร์ หวั่นสูญเงิน-ข้อมูลส่วนบุคคล

'ดีอี' เตือนอย่าหลงเชื่อ ข่าวปลอม ไทยถูกพายุถล่ม 24 ลูก

ดีอี เตือน ข่าวปลอม “ตั้งแต่ต้นปีมีพายุเข้าไทยมาแล้ว 11 ลูก คาดการณ์ว่าทั้งปีจะเข้ามาทั้งหมด 24 ลูก” ขออย่าเชื่อ-แชร์ หวั่นสร้างวิตกกังวลให้ ปชช.

'ดีอี' เตือนอย่าเชื่อ-แชร์ข่าวปลอม รัฐบาลเปิดลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตใหม่

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 4 - 10 ตุลาคม 2567

ดีอีเตือนอย่าแชร์ข่าวปลอมเหยื่อจากคอลเซ็นเตอร์ ลงทะเบียนขอรับเงินคืน

ดีอี เตือน อย่าเชื่อ-แชร์ ข่าวปลอม “เหยื่อจากคอลเซ็นเตอร์ ลงทะเบียนขอรับเงินคืน 3 ช่องทาง ผ่านเพจ ศูนย์ช่วยเหลือเหยื่อมิจฉาชีพทางออนไลน์” หวั่นสร้างความสับสน

เตือนระวังข่าวปลอม ลงทะเบียนคุ้มครองสิทธิแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ดีอี เตือน อย่าเชื่อ-แชร์ ข่าวปลอม “เปิดลงทะเบียนคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผ่านเพจ หน่วยงานคุ้มครองสิทธิ์อาชญากรรมทางออนไลน์” หวั่นปชช.สูญเงิน-ข้อมูลส่วนบุคคล