‘รฟม. – บช.น.’ กางแผนเปิดแนวเส้นทางเริ่มเบี่ยงการจราจรสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มเฟส2 ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ นำร่อง 5 สถานีแรก 15 พ.ย. นี้ เป็นต้นไป
2 พ.ย. 2567 – นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) (วิศวกรรมและก่อสร้าง)ในฐานะผู้อำนวยการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รฟม. ได้เร่งรัดดำเนินงาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อส่งมอบการเดินทางที่สะดวกสบายให้แก่ประชาชนโดยเร็ว ซึ่ง รฟม. ได้แจ้งให้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ร่วมลงทุนเริ่มงานเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยมีระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) มีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ในภาพรวม ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2567 คืบ1.90%โดยเป็นไปตามแผนงาน คาดแล้วเสร็จเปิดให้บริการในเดือน พ.ย.2573
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับจ้างของผู้ร่วมลงทุน มีกำหนดจะเริ่มเบี่ยงจราจรในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง 5 สถานีแรก ได้แก่ สถานีบางขุนนนท์ ,ศิริราช ,อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ,ยมราช และ,ประตูน้ำตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป เพื่อดำเนินงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคเป็นลำดับแรก โดยจะดำเนินการปิดเบี่ยงจราจราจร ชิดทางเท้า 1 ช่องจราจร ยกเว้นสถานีศิริราช จะเป็นการจัดการจราจรในพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่ส่งผลกระทบต่อช่องจราจร สำหรับสถานีส่วนที่เหลือจะดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรในช่วงปลายเดือนพ.ย.2567
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ มีสภาพการจราจรที่ค่อนข้างหนาแน่นและมีชุมชน โรงเรียนโดยรอบ รฟม. และผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา จึงได้ประสานขอความร่วมมือจากตำรวจนครบาลและสถานีตำรวจในพื้นที่เพื่อหามาตรการร่วมกันในการลดผลกระทบต่อผู้ใช้เส้นทางตลอดระยะเวลาการดำเนินงานจึงได้กำชับให้ผู้รับจ้างลดผลกระทบด้านการจราจร
ด้านพล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า รฟม. และผู้รับจ้างฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯได้นำเสนอแผนการจัดจราจรและหารือแนวทางการปิดเบี่ยงจราจรกับ บช.น. และสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อบริหารและจัดการจราจรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดในช่วงระหว่างดำเนินงาน โดยจะมีการพิจารณามาตรการบรรเทาความหนาแน่นด้านการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วนเพิ่มเติมในบริเวณพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น เช่น การปรับทิศทางการสัญจรเป็นพิเศษในบางช่วงเวลา การกำหนดทางลัดทางเลี่ยงเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางและช่วยระบายการจราจร บรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ในระหว่างการดำเนินงานปิดเบี่ยงจราจร จะมีการจัดสรรกำลังเจ้าหน้าที่ ตำรวจจจราจร พร้อมด้วยอาสาจราจรของผู้รับจ้างฯ เพื่อร่วมกันอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับประชาชนที่ใช้เส้นทาง รวมถึงจะร่วมกันเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน ทั้งนี้ ในการพิจารณาจัดรูปแบบการจราจรต่างๆ ในระหว่างดำเนินงานก่อสร้าง ตำรวจจราจรจะพิจารณาโดยมุ่งลดผลกระทบต่อประชาชนผู้สัญจรทางถนนเป็นสำคัญ