ดัชนี MPI ก.ย. 67 หดตัว3.51% กดQ3วูบ1.23% เหตุกำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือน-NPLสูง

สศอ. เผยดัชนี MPI ก.ย. 2567 หดตัว 3.51% กดดัน Q3 หดตัว 1.23% ชี้กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนและ NPL สูง พร้อมแนะผู้ประกอบการอุตฯ ไทย ปรับตัวรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

30 ต.ค. 2567 – นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ย. 2567 อยู่ที่ระดับ 92.44 หดตัว 3.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 57.47% ส่งผลให้ดัชนี MPI ไตรมาส 3 ปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 94.74 หดตัวเฉลี่ย 1.23% และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 58.29 หดตัวเฉลี่ย 0.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ทั้งตลาดภายในประเทศและการส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง และสถานการณ์หนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ยังอยู่ในระดับที่สูง ทำให้สถาบันการเงินยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูง

ขณะเดียวกันต้นทุนพลังงานอยู่ในระดับสูง และปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่าสินค้าของไทย โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์กระทบผู้ประกอบการไทย ซึ่งสินค้านำเข้าที่ทะลักเข้ามามาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้า เป็นต้น ขณะที่ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 2.86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาส 3 ปี 2567 ขยายตัว 7.05%

ด้านการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนต.ค. 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น” โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น ตามการลงทุนภาคเอกชนและความเชื่อมั่นทางธุรกิจในภาคการผลิตที่ลดลง ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ และผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น จากภาคการผลิตของสหภาพยุโรปที่ยังคงหดตัว รวมถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และความกังวลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

สำหรับประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมีผลต่ออุตสาหกรรมไทยนั้น มองว่ามีทั้งได้รับอานิสงส์และอาจจะได้รับผลกระทบ ดังนั้น สศอ. จึงมีข้อเสนอแนะแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อให้สามารถปรับตัวและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม ได้แก่

1. ปรับตัวสู่เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน

2. พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงาน  หรือการสูญเสียพลังงานในแต่ละขั้นตอนเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

3. นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 

4. ผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก โดยต้องมีความเข้าใจความต้องการและสามารถจัดการกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

5. พัฒนาแรงงานโดยสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร (Reskill) พัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้น (Upskill) เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน (Newskill) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะของแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดโลก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะใส' เขย่า 'แจกเงินหมื่น' หอกทิ่มแทง วัดใจจุดเปลี่ยนรัฐบาลแพทองธาร

“สุริยะใส” ชี้จุดสลบใหญ่เรื่องเศรษฐกิจ นโยบายเรือธงอย่างดิจิทัล แจกเงินหมื่นเป็นหอกทิ่มแทง วัดใจจุดเปลี่ยนของรัฐบาลแพทองธาร